วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมอุดรฯสั่งเตรียมรับมือพายุ 20-23 ก.ย.

อุดรฯสั่งเตรียมรับมือพายุ 20-23 ก.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมาอ่างฯห้วยหลวงลดระบายน้ำ แต่ฝนตกหนักบริเวณใต้อ่างฯ 3 วัน รวม 200 มม. ทำให้ลำห้วยหลายสายล้นตลิ่ม ท่วมบ้าน-ถนน-ไร่นา อุดรธานีสั่งเร่งระบายน้ำลง น.โขง รับมือกับพายุโซนร้อนลูกใหม่ พัดขึ้นฝั่งเวียดนาม ทำฝนตกหนัก 20-23 ก.ย.นี้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะทํางานติดตามสถานการณ์ และการบริหารจัดการน้ำ (อุทกภัย) นายธนทร ศรีนาค ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี นำคณะทำงานฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งร่วมประชุมในห้อง และประชุมทางไกลจาก 20 อำเภอ เพื่อรายงานสถานการณ์ที่ผ่านมา การคาดกาลสถานการณ์ฝน การเตรียมความพร้อมรับมือ ชี้แจงตอบข้อซักถาม และรับข้อสั่งการจากที่ประชุม

สถานีตรวจอากาศอุดรธานี รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่าง 13-15 กันยายน ที่ฝนตกลงมามีปริมาณสะสม 200 มม. ถือว่าเป็นปริมาณน้ำฝนระดับมาก ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งหลายจุด ขณะที่ปริมาณน้ำฝนจนถึงวันนี้ มีปริมาณน้ำสะสมใกล้ปี 2554 ทำให้แนวโน้มน้ำฝนสะสมปีนี่จะสูงกว่าแน่นอน เพราะขณะนี้มีพายุดีเปรสชั่น บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อน และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตอนกลางของเวียดนาม อิทธิพลของพายุจะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีฝนตกหนักมากบางแห่ง และมีลมแรงระหว่างวันที่ 20-23 กันยายนนี้

ชลประทานอุดรธานี และอ่างฯห้วยหลวง ชี้แจงว่า ปีนี้อ่างฯห้วยหลวงเปิดประตู ระบายน้ำออกมาสูงสุดวันละ 5 ล้าน ลบม. ในช่วง นั้นมีน้ำเก็บเกินเกณฑ์ถึง 93 % ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบาย ลำน้ำห้วยหลวงสามารถรับได้ ขณะนี้ลดการระบายลงมาล่าสุดเหลือวันละ 1 ล้าน ลบม. หลังจากน้ำเก็บกักต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 79.5 % และได้กำหนดแผนการระบายน้ำไว้ หากพายุที่กำลังก่อตัว จนทำให้ฝนตกมากขึ้น จะสามารถลดความรุนแรงของพายุได้ระดับหนึ่ง

ฝนที่ตกลงมาในช่วง 13-15 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นฝนลงในพื้นที่ใต้อ่างฯ ทำให้น้ำไหลลงลำห้วยหลวง หลังผ่านประตูน้ำบ้านหัวขัวไปแล้ว ทำให้น้ำในลำห้วยหลวงสูงขึ้น วัดได้ที่สะพานบ้านท่าตูม ถ.มิตรภาพ สูงเกินตลิ่ง 18 ซม. ทำให้ติด “ธงแดง” เตือนภัยแล้ว ส่วนน้ำที่ท่วมบ้านทุ่งแร่ , บ.สูงแคน , บ.ดงเจริญ ต.หมูม่น อ.เมือง เกิดจากคันดินริมลำห้วยเริง ที่แยกจากลำห้วยหลวง ที่เคย ขาดมาในปีที่ผ่านมา (ซ่อมชั่วคราว) เกิดขาดซ้ำอีกครั้งและซ่อมไม่ได้เพราะกว้างมาก ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือง ถนน และพื้นที่การเกษตร รวมพื้นที่ราว 370 ไร่ ทางราชการได้เข้าไปให้การช่วยเหลือเบื้องต้น (กระสอบทราย-ถุงยังชีพ+น้ำดื่ม)

สำหรับน้ำท่วมถนนมิตรภาพรวม 3 วัน ตั้งแต่ 15-17 ก.ย.ที่ผ่านมา ช่วงก่อนถึงแยกฮอนด้าราว 500 เมตร ไม่ได้เกิดจากการระบายน้ำของ “อ่างบ้านจั่น” เพราะทางระบายน้ำคนละเส้นทาง โดยนำที่ไหลลงอ่างฯบ้านจั่น เกิดจากน้ำจากลำห้วยโตนช้าง และลำห้วยบ้าน ไหลมารวมเป็น “ลำห้วยหมากแข้ง” น้ำได้ล้นตลิ่งไม่ไหลลงอ่างฯบ้านจั่นทั้งหมด แต่ไหลล้นไปรวมกับลำห้วยขุ่น ที่ไหลมาจาก ต.โนนสูง ขณะที่มาถึงถนนมิตรภาพ ทางระบายนำเป็นคอขวด รอระบายลงคลองป้องกันน้ำท่วมตะวันออก จึงล้นท่วมถนนมิตรภาพต่อเนื่อง 3 วัน เป็นเหตุท่วมถนนมิตรภาพนานที่สุด ที่ผ่านมาเพียงครึ่งวัน (ต้องขุดลอกทางระบายน้ำทุกปี แต่ปีนี้ไม่ทัน เพราะแขวงการทางไม่อนุญาต)

ขณะที่สถานการณ์ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบนดีขึ้น แต่ตอนล่างเริ่มมีผลกระทบรุนแรง โดยน้ำที่ไหลผ่านประตูน้ำบ้านสามพร้าววันนี้ 9-10 ล้าน ลบม./วัน รวมกับน้ำที่มาจาก อ.หนองหาน+อ.บ้านดุง+อ.เพ็ญ+อ.พิบูลย์รักษ์ ไม่สามารถระบายออกแม่น้ำโขงได้ จากระดับน้ำใน น.โขง สูงกว่าน้ำในลำห้วยหลวง และประตูน้ำที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย จำเป็นต้องปิดไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับ และใช้เครื่องสูบน้ำชั่วคราวสูบออกเพียง 3-4 แสน ลบม.ต่อวัน ทำให้ระดับน้ำใน อ.สร้างคอมสูงขึ้น ท่วมบ้านเรือน ถนน และพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ขอรับการสนับสนุน “เรือท้องแบน” แต่พื้นที่ได้ส่งเรือท้องแบน ไปช่วยเหลือชาว จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ หมดแล้ว กำลังหาจากพื้นที่อื่น

สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจ ทน.อุดรธานี ช่วงที่ฝนตกหนัก 3 วัน เกิดน้ำท่วมรอระบายหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากลำห้วยหลากแข้ง ระบายน้ำไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมรอการระบายบน ถนนพรหมประกาย ถนนศรีชุมชื่น ถนนศรีสุข ถนนโพศรี และพื้นที่ใกล้เคียง , เกิดจากเครื่องสูบน้ำเก่า+เสีย เกิดน้ำรอระบายถนนนิตโย (สถานีขนานทางรถไฟถูกขโมยหม้อแปลง) ถนนโพศรี (สถานีหน้าจัดหางานเครื่องเก่า) ชุมชนโนนพิบูลย์ (ไม่มีสถานี) ประชาสันติ(สถานีคลองขี้ส่าเสีย) และชุมชนสามัคคี ประตูควบคุมน้ำเสีย น้ำไหลจากภายนอกเข้าเมือง ทำให้ต้องใช้เวลาในการระบายน้ำมากขึ้น (ทางระบายน้ำอุดตัน จุดปรับปรุงถนน+ทางเท้า)

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาความพร้อม รับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่เหลือ โดยเฉพาะสถานการณ์พายุฝน ระหว่าง 20-24 ก.ย.ที่จะถึงนี้ หากการป้องกันไม่เป็นผล ให้เข้าช่วยเหลือประชาชน ลำดับความสำคัญ คน-บ้าน-สิ่งสาธารณูปโภค-พื้นที่เกษตร ทำให้การการช่วยเหลือต้องเข้าพื้นที่ทันที ประเมินการให้ความช่วยเหลือ กลุ่มผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง-เปาะบาง สสจ.อุดรธานี และ พมจ.อุดรธานี ต้องส่งข้อมูลให้ นอภ.+รพ.สต. (ติดบ้าน 1.1 หมื่นคน , ติดเตียง 8 พันคน และเปาะบาง 3.6 หมื่นคน) โดยขณะนี้ย้ายผู้ป่วยติดเตียงออกมา 2 ราย คือ ที่ บ.ท่าตูม ต.หมูม่น และ อ.สร้างคอม

ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน อุดรธานีได้รับการรับรองมาตรฐาน การช่วยเหลือผู้ป่วย+บาดเจ็บ ทางรถยนต์ และทางอากาศ โดยมี ฮ.ปภ. , ฮ. บน.23 และ ฮ.กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี ลงนามความร่วมมือแล้ว ยังไม่ได้รับรองทางน้ำ ที่จะหมายถึง “ทะเล” มีทีมบุคลากรมาตรฐานออกปฏิบัติ 1.ทีมใหญ่ 17 คน มีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยสนับสนุน พร้อมไปทำงานภาคสนามใน 6 ชม. และอยู่ทำงานได้มากกว่า 72 ชม. มีอยู่ 1 ทีม , 2.ทีมย่อย มีบุคลากรทางการแพทย์ 5-6 นาย/กลุ่ม สามารถทำหัตถการ (ดูแลชีพขั้นสูง) ได้บนเครื่องบิน หรือรถยนต์ อุดรธานีมี 25 ทีม

มรภ.อุดรธานี ระบุพร้อมให้การสนับสนุน เมื่อได้รับการร้องขอ โดยขณะนี้ได้จัดทำโรงครัวสนาม ส่งข้าวกล่องช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จ.หนองคาย และจัดรวบรวมถุงยังชีพแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่มีความรุนแรง สำหรับ จ.อุดรธานี หากมีความรุนแรง และได้รับการร้องขอพร้อมสนับสนุน หรับการเตรียมพื้นที่เป็นศูนย์อพยพ จะมีการนัดหมายลงสำรวจพื้นที่ เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ทันที

นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า ให้ทุกฝ่ายเร่งระบายน้ำลง น.โขง ให้มากและเร็วที่สุด ให้ติดตามสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิด เรียงลำดับความสำคัญในการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาดำเนินการไปได้ด้วยดี แต่ที่มีปัญหาคือ การทำความเข้าใจประชาชน ทุกหน่วยงานจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ เหตุผลของการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาของภาครัฐ ที่ผ่านมาการระบายน้ำออกจากอ่างฯ ยังทำความเข้าใจประชาชนน้อย จะต้องเพิ่มช่องทางแจ้งประชาชนมากขึ้น

เมื่อ 17.00 น. วันที่ 17 กันยายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนประกาศ เตือนพายุดีเปรสชั่นที่เกิดขึ้น และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่จังหวัดอุดรธานี ก็ออกประกาศให้เตรียมความพร้อมรับมือกับพายุเช่นกัน โดยมรายงานประตูน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย ทำการเปิดประตูระบายน้ำออกแล้ว หลังจาก น.โขง ต่ำกว่าลำห้วยหลวง ระบายน้ำออกได้ 6.5 ล้าน ลบม./วัน …..

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments