วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Google search engine
หน้าแรกศิลปวัฒนธรรมเปิดพิพิธภัณฑ์กรมหลวงประจักษ์

เปิดพิพิธภัณฑ์กรมหลวงประจักษ์

เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี(ม) ชื่นชมมูลนิธิกรมหลวงประจักษ์ และ 13 ผู้ร่วมสละทรัพย์ 6.2 ล้านบาท ผุดพิพิธภัณฑ์กรมหลวงประจักษ์ บนชั้น 2 อาคารโบราณใน สสจ.อุดรธานี สถานที่ตั้งพระตำหนัก จุดเริ่มต้นของสร้างเมืองอุดรฯ ถือเป็นบุญสุดยอดการให้ พร้อมแนะให้บรรจุประวัติกรมหลวงประจักษ์ เป็นหลักสูตรในสถานศึกษา

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” บริเวณชั้น 2 อาคารเหล่ากาชาดอุดรธานี (พระตำหนักกรมหลวงประจักษ์) สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี โดยมีพระพรหมวัชรคุณาภรณ์ (สายพงศ์ อโนปญฺโญ) หรือ “มหาสายพงศ์” เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง นำคณะสงฆ์ประกอบพิธี ขณะที่นายปรีชา ชัยรัตน์ คหบดีชาวอุดรธานี นำกรรมการมูลนิธิกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และผู้ร่วมบริจาคสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ 13 ราย มูลค่า 6.2 ล้านบาท (ไม่รวมปรับปรุงอาคาร 1.9 ล้านบาท) เข้าร่วมพิธีเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึก และเรียนรู้ความเป็นมาของเมืองอุดรธานี

พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ครั้งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ ได้เคลื่อนทัพออกจากริมแม่น้ำโขงตามสนธิสัญญา ร.ศ.112 มาเลือกบ้านเดื่อหมากแข้งตั้งทัพ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ร.ศ.112 ด้วยพระปรีชาสามารถบ้านเมืองเจริญรุดหน้า จนมาเป็นเมืองอุดรธานีในปัจจุบัน เมืองศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี และในการฉลองก่อตั้งเมืองลุเข้าปีที่ 100 นายสุพร สุภสร ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานีในขณะนั้น ได้ก่อตั้งมูลนิธิกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมขึ้น โดยได้นำเงินเหลือจากการจัดงานก่อตั้งมูลนิธิฯ เพื่อเชิดชูบูชาในพระมหากรุณาธิคุณ พระเกียรติคุณของพระองค์ ซึ่งได้สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน และในการฉลองเมืองอุดรธานีลุเข้าสู่ปีที่ 131 มีนายวันชัย คงเกษม เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มูลนิธิได้มีมติจัดสร้าง พิพิธภัณฑ์ขึ้น

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำคณะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ ที่ต้องเดินขึ้นบันไดไม้แบบเดิม จากชั้น 1 อาคารบริจาคโลหิต ของเหล่ากาชาดอุดรธานี ซึ่งเป็นบันไดวนเกือบ 1 รอบ ขึ้นไปบนชั้น 2 ในส่วนพื้นที่พิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อเข้าชมห้องแรก…”มองเมืองอุดรธานี” สร้างความเข้าใจในบริบทพื้นที่ ประวัติศาสตร์จุดกำเนิด การตั้งเมืองอุดรธานี ห้องนี้ได้อธิบายว่า อาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของตำหนักกรมหลวงประจักษ์ พระองค์จะประทับมองจากระเบียง หันหน้าไปวัดมัชฌิมาวาส เพื่อสังเกตการณ์ปรับปรุงวัด และการทำงานของกองทัพ ด้วยการใช้ภาพดาวเทียม ภาพอาคารก่อนปรับปรุง เปรียบเทียบภาพลายเส้นจำลองอดีต

ห้องที่สอง…“คิดถึงประจักษ์ศิลปาคม” รู้จักเมืองอุดรธานี ผ่านชื่อ “ประจักษ์ศิลปาคม” เพื่อนำสู่เรื่องราวของพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เชื่อมโยงสู่ความรัก ความผูกพันที่ยังคงอยู่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ห้องนี้ได้นำภาพที่กรมหลวงประจักษ์ ส่งมาที่วัดมัชฌิมาวาส ไว้ให้ชาวอุดรธานีได้ดู พร้อมขยายภาพฝีพระหัตย์ใจความว่า “ข้าพเจ้าได้ส่งรูปนี้มายังมณฑลอุดร เพื่อมาเยี่ยมท่านทั้งผู้มิตร์ ที่เมตตากรุณาอยู่ในตัวข้าพเจ้า ในเมืองอยู่ด้วยกันกับท่านทั้งปวง เมื่อท่านผู้ใดคิดถึงข้าพเจ้า ก็จงดูรูปนี้ในวัดมัชฌิมาวาสเถิด ขอท่านทั้งปวง จงปาศจากทุกข์ เจริญด้วยความสุข ดั่งที่ข้าพเจ้าอำนวยพรมาแก่ท่านนี้ จงทั่วทุกคนเทอญ …ลงชื่อ ประจักษ์ศิลปาคม พร้อมภาพประกอบอื่นๆ และมีสื่อผสมที่น่าสนใจได้ศึกษาด้วย

ห้องที่สาม…“ประจักษ์ศิลปาคม” พระประวัติและพระปริชาสามารถของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นการจำลองห้องทำงานกรมหลวงประจักษ์ เป็นโต๊ะทำงานไม้ย้อนกลับไปในสมัยนั้น พร้อมการแสดงนิทรรศการบริเวณฝาผนั่ง บอกเล่าถึงพระปรีชาสามารถในด้วยต่างๆ ทั้งด้านการทหาร , การปกครอง , ดาราศาสตร์ , ศิลปะ , วรรณกรรม และอื่นๆ ประกอบกับได้นำสื่อเทคโนโลยี ทันสมัยในยุคปัจจุบันมาใช้ด้วย

และห้องที่สี่…“ตั้งเมืองอุดรฯ ให้เป็นที่ประจักษ์” พระปรีชาสามารถของพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ที่ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานี ในชัยภูมิที่มาความเหมาะสม อันเป็นรากฐานสำคัญ สู่การพัฒนาเมืองอุดรธานีในปัจจุบัน เป็นการเล่าเรื่องผ่านสื่อเทคโนโลยี ด้วยการนำแผนที่-เอกสาร-ภาพถ่าย และอื่นๆในอดีต เล่าความเป็นมายุคตั้งเมืองอุดรธานี ตลอดจนยุคต่างๆ ผสมผสานกับการจำลอง โมเดลการเดินทัพ และการดำเนินชีวิตคนในยุคนั้น อธิบายในเวลาจำกัดได้ดี

พระพรหมวัชรคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง ได้แสดงสัมมโนนียคถา (สัมโมทะนียะคะถา) ว่า อุดรธานีเป็นเมืองกษัตริย์ตรา ต่อสู้ศัตรูกอบกู้บ้านเมือง ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ที่นี่เป็นที่ตั้งพระตำหนักฯ มีเรื่องที่เล่ากันในวัดมัชฌิมาวาสว่า กรมหลวงประจักษ์ฯจะไปที่วัดมัชฌิมาวาส ติดตามความก้าวหน้าสร้างวัด นอกจากนี้ยังมีลูกหลานของพระองค์ ตามไปเล่นที่วัดของเราด้วย การสร้างพิพิธภัณฑ์ฯเป็นนิมิตรหมายดี จะมาทำให้คนได้รู้จัก ว่าพระองค์ประทับอยู่ตรงนี้ มีคุโนประการต่ออุดรฯมาก น่าจะบรรจุหลักสูตรการศึกษา ให้มีการเรียนการสอนเรื่องของพระองค์ ถือเป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น

“ คนรุ่นใหม่จะได้รับรู้จักพระองค์ ไม่ต้องรอไปวิ่งรอบพระอนุสาวรีย์ เห็นพากันไปวิ่งกันหลายรอบ จะได้ช่วยกันหาทางออกของบ้านเมืองได้ เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่รู้ เพราะไม่ได้มีการเรียนการสอนในโรงเรียน จึงต้องขอบคุณมูลนิธิกรมหลวงประจักษ์ ที่ริเริ่มแนวคิดนี้ แล้วชักชวนทุกฝ่าย สร้างพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา เมื่อสร้างและเปิดให้เข้าชมแล้ว มูลนิธินี้ยังต้องก้าวต่อไป ในการหาทุนสะสมขึ้นทุกปี หลักการ วิธีการ จะว่ากันอย่างไร ถือว่าวันนี้เป็นสุดยอดการให้ จึงขออนุโมธนาในเจตนาทุกคน ที่ได้สร้างแหล่งเรียนรู้ ด้วยสำนึกในบุญคุณที่เห็นปรากฏมาแล้ว สำหรับวัดมัชฌิมาวาส ในวันที่ 5 สิงหาคมของทุกปี มีกิจกรรมสุดยอดงานบุญ ผู้ร่วมงานได้อุทิศส่วนกุศลให้พระองค์ตลอดมา ”

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ตอบข้อซักถามว่า เห็นด้วยกับท่านเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง ที่เสนอให้นำประวัติพลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม บรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา เพราะเป็นว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คนในท้องถิ่นต้องเรียนรู้และเข้าใจ โดยจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการ จ.อุดรธานี ในวันที่ 18 กันยายนนี้…

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments