นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สาธารณสุข จ.อุดรธานี แจ้งว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 พบผู้ป่วย 25,709 ราย เสียชีวิต 15 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 387 ต่อแสนประชากร สำหรับ จ.อุดรธานี จากต้นปีถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 525 ราย เสียชีวิต 2 ราย อำเภอที่มีอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ อ.โนนสะอาด , อ.นายูง และ อ.เพ็ญ ตามลำดับ
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในทุกพื้นที่ ยังต้องมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะ ควบคู่กับการรณรงค์ควบคุมป้องกันโรค ที่ต้องทำตามมาตรการอย่างเข้มข้น โดยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ยุงลายมีการแพร่พันธุ์ และเจริญเติบได้อย่างรวดเร็ว ในปีนี้แม้จำนวนผู้ป่วยจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ความรุนแรงยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม เป็นช่วงฤดูฝน สิ่งแวดล้อมอื้อต่อการแพร่พันธ์ของยุงลาย
อาการผู้ป่วยไข้เลือดออกแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้สูง, ระยะช็อค มีเลือดออก , และระยะฟื้นตัว หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นใน 3-4 วัน แต่หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง กระสับกระส่ายซึมมาก อาเจียนมาก หรือ อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดกำเดาไหล ถ่ายดำ ควรพบแพทย์ หรือนำส่งโรงพยาบาลทันที อาการผู้ป่วยจะรุนแรงที่สุดในวันที่ไข้เริ่มลด เพราะผู้ป่วยอาจเข้าสู่ระยะช็อคและเสียชีวิตได้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือ ปัจจุบันไข้เลือดออก เกิดได้ทั้งกับทุกเพศ ทุกวัย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก อาการมักรุนแรงกว่าในเด็ก จากสถิติการพบผู้ป่วยที่ ป่วยเป็นไข้เลือดออกมีอายุสูงสุดถึง 35 ปี สิ่งสำคัญอีกประการคือ ในผู้ป่วยที่สงสัยเป็นไข้เลือดออก ห้ามให้ยาแก้ปวดลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะช็อคเร็วขึ้น และส่งผลให้เสียชีวิตได้