เดินทางไปตามหาสวน “พุทรานมสดสามรส” ที่หลังวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นสุดยอมพุทราสามรส ใครได้ลิ้มชิมรสแล้วจะติดใจ โดยมีเจ้าของสวนใจดี ขับรถปิกอัพนำหน้าพาลักเลาะ ตามถนนดินวิ่งได้คันเดียว จนไปถึงใจกลางสวนผสมผสาน ในพื้นที่ 40 ไร่ มีทั้งสระน้ำ , นาข้าว , ไร่มัน , สวนปาล์ม , สวนพุทรา ซึ่งรายล้อมด้วยกล้วย , กอไผ่ และผลไม้พื้นถิ่น
ได้พบกับคุณเดชทวี โสภาศรี อายุ 52 ปี และนางแว่นใจ โสภาศรี อายุ 51 ปี ภรรยาคู่ชีวิต ที่กำลังสาระวนอยู่กับเลือกสวน และได้ปลีกเวลามาเล่าเรื่อง “คนไม่ทิ้งกลิ่นไอดิน” ให้เราได้บันทึกมาเล่าต่อ เริ่มจากสามีเป็นชาว อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู มาเรียนที่วิทยาลัยเกษตรกรรมอุดรธานี รุ่น 17 ส่วนภรรยา เป็นชาวบ้านตาด จบ วทบ.(เกษตร) วิทยาลัยครูอุดรธานี ทั้งสองเริ่มงานเป็นลูกจ้าง หน่วยงานรัฐที่เดียวกัน นำไปสู่การสร้างครอบครัว
“แว่นใจ” หอบเอาใบปริญญาบัตร มาพลิกฟื้นผืนดินที่บ้านตาดกับพ่อแม่ ขณะ “เดชทวี” ขาข้างหนึ่งเข้ารับราชการ สังกัดกระทรวงเกษตรฯ และขาอีกข้างหนึ่งก็เป็นผู้นำครอบครัว พลิกฟื้นผืนดินแปลงนี้ไปด้วยกัน ที่ดิน 40 ไร่แปลงนี้ จึงกลายเป็นแปลงทดสอบปฏิบัติการณ์จริง จากองค์ความรู้ใหม่ๆ ก่อนถูกถ่ายทอดไปเกษตรกร ปีที่ผ่านมาย้ายมาเป็น เกษตรตำบลนิคมสงเคราะห์-ตำบลโคกสะอาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
คุณเดชทวี โสภาศรี เล่าว่า พื้นที่ทั้งหมดยังใช้ปุ๋ยเคมี แต่จะไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยใช้วิธีผสมผสานกับชีวภาพ ให้ความสำคัญกับการบำรุงดิน (โดโลไมท์ และพูไมท์) อย่างการปลูกข้าว จะไถกลบตอซังข้าว และปลูกปอเทือง ไถกลบทำปุ๋ยพืชสด สวนจะมีรายได้หลักจาก นาข้าว , ปาล์มน้ำมัน , มันสำปะหลัง , พุทรา , หน่อไม้ , ถ่านจากไม้พุทรา และอื่นๆ มีกิจกรรมทำตลอดทั้งปี
“ พุทราสามรสเป็นสายพันธุ์นครปฐม ปลูกแซมด้วยพุทราแอบเปิ้ล 5 เปอร์เซนต์ ปลูกและเก็บผลขายมากว่า 15 ปีแล้ว จากเดิมปลูกไว้ 8 ไร่ ช่องห่าง 3 คูณ 4 เมตร แต่ตอนนี้ลดเหลือ 4 ไร่ และจะทำเพียงปีละ 1 รุ่นเท่านั้น เพราะแรงงานน้อยเราทำกันเอง โดยจะเก็บผลช่วงธันวาคม-มกราคม เราจะเก็บเองแล้วเอาไปคัด ให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพวันละ 100-150 กก. พ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน ทำให้มีรายได้ปีละ 1-2 แสนบาท ”
“เดชทวี โสภาศรี” เล่าต่อว่า เก็บพุทราจนหมดต้นก็จะไม่ทำอะไร รอจนเดือนมีนาคมจะตัดกิ่งออก ให้เหลือเฉพาะต้นตอเท่านั้น ใช้รถไถร่องกลางห่างต้น 1 เมตร ใส่ปุ๋ยรอบแรกทั้ง 4 ไร่ สูตรเสมอ 50 กก. , ใส่โดโลไมท์ 30 กก. และฟูไมท์ 30 กก. แล้วใช้แทรคเตอร์ไถกลบ รอให้ต้นตอมันแทงยอดกิ่ง เราก็จะเลือกเอาตอละ 2 กิ่งเท่านั้น รอให้ฝนตกไม่ต้องให้น้ำ จนเดือนกรกฎาคม และตุลาคม ให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ครั้งละ 50 กก. และจะให้น้ำแบบน้ำหยด หลังจากหมดฤดูฝนไปแล้ว
“ ดอกจะเริ่มออกราวเดือนกรกฎาคม จะใช้นมน้ำเหลืองหมัก หรือนมที่เหลือจากแม่วัวนมเลี้ยงลูก 1 แก้วต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเป็นปุ๋ยทางใบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนจึงหยุดฉีด รอเก็บผลผลิตเดือนธันวาคม สำหรับการดูแลแมลง จะใช้กำดักแมลงวันทองรอบสวน ห่างจากต้นพุทราพอสมควร และใช้การก่อไฟสุมให้เกิดควันรวม 6 จุดในสวนพุทราสัปดาห์ละ 3 วัน หากพบว่ามีแมลงรบกวนมาก ก็จะใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น ”
“เดชทวี โสภาศรี” อธิบายด้วยว่า การใช้โดโลไมท์(เปลือกหอย) และพูไมท์ ช่วยให้สภาพดินอีสานสมบูรณ์ขึ้น ขณะที่นมน้ำเหลืองหมัก จะช่วยเรื่องความกรอบและรสชาติ สำหรับการสุมควันเกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีอยู่ปีหนึ่งมีหนองระบาดมาก แต่ต้นพุทราที่อยู่ใกล้เตาเผาถ่าน กลับไม่มีหนอนระบาดเลย จึงทำการทดสอบจนได้วิธีของสวนนี้ คือการเอาฟางข้าว ใบไม้ หรือข้าวลีบ มาเผาให้เกิดควันตอนเช้าๆ ตอนที่พระอาทิตย์กำลังขึ้น แมลงวันกำลังจะเขาสวนก็หนีไป ใช้ได้ดีมากจนใช้ถึงทุกวันนี้
ในฐานะเกษตรตำบล “เดชทวี โสภาศรี” บอกว่า เกษตรกรสนใจการทำเกษตร ลดการใช้สารเคมีมากขึ้น แต่ก็ต้องหาอะไรมาทดแทน การมีแปลงปฏิบัติการณ์จริง ใช้งานได้ผลจริงๆ ได้นำไปพูดคุยกับเกษตรกรได้เต็มปาก ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น การลงมือทำด้วยตนเอง จนมีคำถามติดตลกว่า อาชีพหลัก อาชีพลอง อาชีพเสริม ของผมคืออะไร คำตอบทั้งหมดคือ “เราอยู่กับดิน” ….