วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมขวัญใจชาวบ้านร้านส้มตำ 10 บาทผัดกระเพรา 20 บาท ตรึงราคาให้ลูกค้าสู้ของแพงในยุคโควิด

ขวัญใจชาวบ้านร้านส้มตำ 10 บาทผัดกระเพรา 20 บาท ตรึงราคาให้ลูกค้าสู้ของแพงในยุคโควิด

ในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่  น้ำมันแพง ค่าแรงถูก สินค้าทุกชนิดขึ้นราคา ทำให้อาหารตามสั่งขึ้นราคาตาม ล่าสุดมะนาวแพง อาหารที่ต้องใช้รสเปรี้ยวจากน้ำมะนาว ต้องหันไปพึ่งความเปรี้ยวจากน้ำมะขามแทน แต่อาหารบางประเภทก็ไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้  ต้องขึ้นราคาอาหารตามไปด้วย ภาระจึงต้องมาตกที่ผู้บริโภค แต่ยังมีร้านส้มตำและอาหารตามสั่ง ยังคงขายส้มตำครกละ 10 บาท และผัดกระเพราหมูสับ 20 บาท ซึ่งเป็นร้านอาหารที่พึ่งของเด็กและผู้ใหญ่มานานกว่า  45 ปี แม้ว่าวัตถุดิบจะแพงก็ตาม

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 17 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ร้านส้มตำ 10 บาท เลขที่ 320 หลังสถานีรถไฟห้วยเกิ้ง หลังสถานรถไฟห้วยเกิ้ง บ้านโนนสำราญ หมู่ 6  ต.ห้วยเกิ้ง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นชั้นเดียวอยู่ริมถนน เปิดขายส้มตำ และอาหารตามสั่งผัดกระเพรา โดยมีลูกค้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาสั่งส้มตำและผัดกระเพรา  นั่งกินที่ร้านและห่อกลับบ้าน อย่างไม่ขาดสาย โดยแม่ค้า 3 คน ซึ่งเป็นญาติพี่น้อง แบ่งหน้าที่กันตำส้มตำ ผัดกระเพรา และทอดกล้วยแขก บริการลูกค้าด้วยรอยยิ้ม และเป็นกันเอง

นางมะลิวรรณ คุ้มเมือง อายุ 67 ปี แม่ค้าส้มตำ เล่าว่า ในยุคเริ่มแรกย้อนกลับไปประมาณ 45 ปีแล้ว สถานีรถไฟห้วยเกิ้ง จะเป็นสถานีขนส่งไม้และน้ำตาล เป็นชุมทางที่คึกคัก จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ มีร้านค้าและตลาด บ้านพวกตนตั้งอยู่หน้าโรงเรื่อย พี่สาวของตนจึงเปิดร้านขายส้มตำ ขนมจีนน้ำยา หมี่กะทิ ของหวาน ใช้วัตถุอย่างดี และสะอาด ซึ่งขณะนั้นตนอายุ 20 ปี ได้มาช่วยพี่สาวขาย ส้มตำขายครกละ 2-3 บาท ต่อมาขึ้นราคา 5 บาท  และปี 2544 ขึ้นเป็น 10 บาท จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ขึ้นราคาอีกเลย ทั้งตำลาว ตำไทย ตำโคราช จนพี่สาวได้หยุดขาย เพราะลูกเรียนจบหมดแล้ว และสุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนเดิม  ตนจึงมารับช่วงต่อ ลูกค้าก็มีเด็กนักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ อบต. เทศบาล ไฟฟ้า  และชาวบ้านละแวกใกล้เคียง

”แม้ว่ามะนาว มะเขือเทศ มะละกอ พริก วัตถุดิบทุกอย่างจะขึ้นราคาแพงขนาดไหนก็ตาม ก็ยังขายราคา 10 บาทเหมือนเดิม  เพราะต้องการให้ลูกค้าส่วนมากจะเป็นเด็กกินอิ่ม เราอยู่ได้ คนซื้อยู่ได้ ไม่ได้คิดถึงเรื่องกำไรขาดทุน ขายส้มตำครกละ 10 บาท ส่งลูกเรียนจบปริญญา 3 คน มีงานทำหมดทุกคน ลูกบอกให้หยุดขาย แต่ไม่หยุดเพราะว่ามีความสุข ได้พูดคุยกับลูกค้า ไม่เหงา และภูมิใจ เงินกำไรที่ได้จากขายส้มตำได้ทำบุญ เมื่อถึงวันสำคัญ เช่นวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9  ญาติพี่น้องก็จะทำโรงทานส้มตำ ขนมจีนแจกให้กินฟรี”

นางสำรอง ชาวนาผล อายุ 62 ปี  น้องสาวนางมะลิวรรณ ซึ่งขายอาหารตามสั่งอยู่ติดกัน เล่าว่า ตนช่วยพี่สาวขายส้มตำตั้งแต่ปี 2537 และทำอาหารโรงเรียน กระทั่งปี 2550 ตนหยุดทำอาหารโรงเรียน หันมาขายอาหารตามสั่ง ผัดกระเพรา  หมูสับ หมูชิ้น หมูกรอบ ทะเล ราคา 20 บาท  พิเศษไข่ดาว 25 บาท ไข่เจียว 20 บาท โดยใช้ข้าวหอมมะลิอย่างดี ผัดครั้งละจาน  ลูกค้าจะเป็นเด็กในหมู่บ้าน และหมู่บ้านละแวกใกล้เคียง  ช่วงโควิดเคยหยุดขาย 1 วัน มีเด็กมาถามหลานที่เปิดร้านขายกาแฟว่า ทำไมไม่ขายอาหารตามสั่ง มีเงิน 40 บาท จะไปกินที่ไหน บอกให้หลานมาบอกตนเปิดร้าน ตนสงสารเด็กไม่มีเงินไปซื้อกินที่อื่น จึงเปิดร้านขายตามปกติถึงวันนี้ 15 ปี

“แม้ว่าหมู ไข่ ข้าวหอมมะลิ จะขึ้นราคา ตนก็ขายผัดกระเพรา 20 บาทเหมือนเดิม แต่ตนจะตัดเมนูกระเพราหมูกรอบออกไป ที่ยังขายก็เพราะว่า เวลาเนื้อหมูถูกลูกค้าก็ยังมีอุดหนุน เวลาหมูแพงก็ยังมาอุดหนุนเหมือนเดิม จึงไม่ขึ้นราคา แม้ว่าจะได้กำไรไม่มาก แต่ก็ตรึงราคารอจนกว่าหมูจะถูก  ถัวเฉลี่ยกันไป กำไรพอได้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ  ซึ่งตนมีความสุขที่เห็นลูกค้าอิ่ม ลูกค้าจะสั่งรสชาติแบบไหน ตนทำให้หมด จะมีลูกค้าทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ นักเรียน ครู ชาวบ้าน หน่วยงานราชการมักจะมาสั่งให้ตนทำข้าวกล่องผัดกระเพรา 20 บาท ครั้งละ 50 กล่อง  และจะทำจนกว่าจะตาย”

นอกจากจะขายส้มตำ 10 บาท ผัดกระเพรา 20 บาท พิเศษไข่ดาว 25 บาทแล้ว เจ้าของร้านใจดียังทอดกล้วย มันเทศ และฟักทองขาย 20 บาทด้วย ซึ่งรสชาติอร่อยขายหมดทุกวัน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments