ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 หลังจากมีการเผยแพร่ “วีดีทัศน์” รายงานการศึกษาความเหมาะสม ด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยง จ.อุดรธานี-บึงกาฬ ที่กรมทางหลวงว่าจ้างที่ปรึกษา ศึกษาแนวเส้นทาง-โครงข่าย-รูปแบบที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคม ไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 จ.บึงกาฬ เพื่อแก้ไขปัญหาเส้นทางคมนาคมเดิม ต้องผ่านพื้นที่ชุมชนเมือง ระยะทางไกล และใช้เวลาเดินทางนาน ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย
รายงานการศึกษาฯ ระบุว่า จากเดิมการมีหลายเส้นทาง ผ่านอุดรธานี-หนองคาย-สกลนคร ใกล้ที่สุดเป็นเส้นทางอุดรธานี-หนองคาย-โพนพิสัย-บึงกาฬ ระยะทาง 195 กม. การศึกษาได้เลือกเส้นทางที่เหลือระยะทาง 155.328 กม. ผ่าน 3 จังหวัด 10 อำเภอ 29 ตำบล 100 หมู่บ้าน เป็นการออกแบบรองรับอนาคต ถนนมีขนาด 4 ช่องทาง สามารถขยายได้เป็น 6 ช่องทาง และยังมีทางคู่ขนาน , มีทางแยกต่างระดับ 3 แห่ง , สะพานข้ามแยก 8 แห่ง และทางข้ามทางรถไฟ 1 แห่ง ทั้งหมดเป็นถนนใหม่ต้อง “เวนคืน”
เริ่มต้นโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) กม.426+465 อ.กุมภวาปี จะมีการสร้างทางระดับจุดแรก , ผ่านทางรถไฟ (ทางคู่-ความเร็วสูง) ที่ กม. 1+505 และ 1+186 ต้องสร้างทางข้ามทางรถไฟ , ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 22 (ถนนนิตโย) กม..24+670 บ.หนองบ่อ อ.หนองหาน จุดนี้ก็จะมีทางต่างระดับจุดที่ 2 , ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข2312 (ถนนหนองหาน-สุมเส้า) บ.ไร่พัฒนา อ.หนองหาน , ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 2022 (ถนนบ้านดุง-สุมเส้า) บ.ดุง อ.บ้านดุง จากนั้นก็ผ่าน จ.อุดรธานี มุ่งสู่ จ.บึงกาฬ
นายมงคล แสนวงษา ผอ.แขวงทางหลวงอุดรธานีที่ 2 (หนองหาน) เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาได้รับฟังความเห็น ครั้งสุดท้ายไปแล้วที่ อ.หนองหาน ต่อไปที่ปรึกษาก็จะสรุปรายงานทั้งหมด ส่งมอบให้กรมทางหลวงตรวจรับมอบงาน เมื่อรายงานสมบูรณ์ก็บรรจุเข้าแผน เข้าสู่กระบวนการอีกหลายขั้นตอน อาทิ การจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่เริ่มด้วยการ “ปรองดอง” ในรูปแบบของคณะกรรมการทุกระดับ เพื่อความรวดเร็ว หากจุดไหนยังมีปัญหาก็ต้อง “เวนคืน” ขั้นตอนนี้อย่างน้อยใช้เวลาอีก 2 ปี
“ ซึ่งการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน จะต้องทำไปพร้อมกับการออกแบบ รายละเอียดของโครงการทั้งหมด เพื่อสอดรับกับการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 แล้วนำเข้าสู่กระบวนการขอ และจัดสรรงบประมาณ (เงินงบประมาณ-เงินกู้) ในการเวนคืนและก่อสร้าง จากรายงานการศึกษาระยะทาง 155 กม. ก็สามารถแบ่งงานออกเป็น 8-10 ตอน หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรค จะสามารถใช้ถนนเส้นนี้ใน 10 ปีข้างหน้า ”