อ่างเก็บน้ำบ้านจั่น จ.อุดรธานี จีไอ.สร้างไว้ยุคสงครามเวียดนาม ปัจจุบันใช้เป็นแก้มลิงลุ่มน้ำห้วยหลวง ป้องกันน้ำท่วมเมือง กว่า 56 ปีตื้นเขินไม่เคยขุดลอก วัชพืชปกคลุมเน่าส่งกลิ่นเหม็น เสนอตั้งทีมคณะทำงานสำรวจออกแบบขุดลอก แนวทางเปิดให้เอกชนขุดลอกแลกมูลดิน
เวลา 09.30 น. วันที่ 15 ตุลาคม 2562 บริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านจั่น ต.บ้านจั่น อ.เมือง จ.อุดรธานี นายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาวัชพืชในอ่างเก็บน้ำบ้านจั่น โดยมีนายวัชรินทร์ สุตลาวดี นายอำเภอเมือง รักษาราชการปลัด จ.อุดรธานี นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กองบิน 23 , มทบ.24 , สนง.พัฒนาภาค 2 , ชลประทาน , ทรัพยากรน้ำ , โยธาธิการและผังเมือง , สิ่งแวดล้อมภาค 9 , ทต.บ้านจั่น และ อบต.บ้านจั่น ร่วมรับฟังข้อเท็จจริง และหาแนวทางการแก้ไข
ที่ประชุมรายงานว่า “อ่างเก็บน้ำบ้านจั่น” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2506 โดยกองทัพสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปา ภายในฐานบินอุดรธานี ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองทัพอากาศ และมอบให้ บน.23 กำกับดูแล โดยไม่มีแบบแปลนการก่อสร้าง เมื่อปี 2543 อ่างฯบ้านจั่นน้ำล้นสปิลเวย์ และเขื่อนดินชำรุด ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมเมืองอุดรธานี จึงมีการปรับปรุงขยายสันเขื่อนจาก 4 เมตรเป็น 6 เมตร และปีนี้ได้เปลี่ยนประตูระบายน้ำ 2 บาน โดย บน.23 ยังใช้คงน้ำในอ่างฯ ผลิตน้ำประปาอยู่
“อ่างฯบ้านจั่น” ยังเป็นแหล่งน้ำของราษฎร บ.จั่น , บ.ศรีวิไล , บ.เลื่อมพิลึก และ บ.วังปลาฝา ต.บ้านจั่น อีกทั้งเป็นแก้มลิงบริหารจัดการน้ำ ไหลลงไปสู่ลุ่มน้ำห้วยหลวง เพราะทุกปีจะมีน้ำไหลลงอ่างฯมากถึง 40 ล้าน ลบม. แต่มีความจุเพียง 4.3 ล้าน ลบม. และไม่เคยขุดลอกเลย ความจุปัจจุบันคงไม่ถึง ในปี 2558 มีวัชพืชโดยเฉพาะ “จอกหูหนูยักษ์” เติบโตเต็มผิวน้ำ เมื่อน้ำล้นสปริลเวย์วัชพืชได้ไหลออก แต่ที่เหลือในอ่างฯก็เติบโตขึ้นมาอีก แม้จะมีการเก็บกู้วัชพืชออกแล้ว 2 ครั้ง วัชพืชก็ยังเติบโตเต็มผิวน้ำ ทำให้น้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็น
นายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า อ่างฯบ้านจั่นเป็นอ่างฯเดียวของกองทัพอากาศ สร้างขึ้นโดยกองทัพสหรัฐ เป็นสถานที่ที่ทหารอเมริกันยุคนั้นสร้างใช้ประโยชน์ ตกมาจนถึงคนอุดรธานีปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจาก ทน.อุดรธานีไม่ถึง 1 กม. สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ นอกจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วม โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 คณะ มี สนง.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นฝ่ายเลขาฯ
“ คณะทำงานจะกำหนดแผนกำจัดวัชพืช ด้วยการเริ่มดำเนินการไปก่อน ให้เห็นเป็นรูปธรรมใน 3 เดือน ระหว่างรอการสำรวจออกแบบการขุดลอก เพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำ เนื่องจากอ่างฯบ้านจั่นไม่มีแบบแปลนเดิม จะต้องสำรวจแกนดินให้ชัดเจน ก่อนจะกำหนดพื้นที่การขุดลอก ที่ไม่ดำเนินการใกล้กับตัวประตูระบายน้ำ และแนวเขื่อนดินยาว 1 กม. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากการขุดลอก และรับฟังความคิดเห็นประชาชน ให้ดูด้วยว่าจะใช้วิธีให้เอกชนมาขุด เพื่อแลกมูลดินได้หรือไม่ เพราะอยู่ใกล้เมืองต้องการดินอยู่แล้ว ”