วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมผู้ว่าฯชน“แอร์วิช่วน”ยันอากาศอุดรไม่เลวร้าย

ผู้ว่าฯชน“แอร์วิช่วน”ยันอากาศอุดรไม่เลวร้าย

มีสัญญาณเตือนเรื่องฝุ่นขนาดเล็ก หรือ พีเอ็ม 2.5 หรือเล็กกว่าเส้นผม 40 เท่า ทะลุทะลวงเข้าร่างกายของเราได้ เกิดขึ้นก่อนกำหนด ที่ปกติจะเริ่มมีปัญหาในเดือน พ.ย. และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีรายงานผ่านสื่อบางสำนัก ในช่วงวันที่ 29 ก.ย.-3 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าอากาศที่อุดรธานีมีคุณภาพต่ำที่สุดในประเทศ เหมือนส่งสัญญาณให้กับ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ที่เดินทางมารับตำแหน่งใหม่ และผู้ว่าฯก็ออกมาตอบโต้ทันที

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 ตุลาคม 2562) ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวารานุวัตร ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีนายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม รายงานการเตรียมความพร้อม หลังจากนายกรัฐมนตรีสั่งการเร่งแก้ไขเรื่องนี้ทั่วประเทศ

ที่ประชุมแต่ละหน่วยงานได้รายงานว่า อุดรธานีไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ต้องอาศัยสถานีฯของกรมควบคุมมลพิษที่ จ.ขอนแก่น และ จ.เลย ซึ่งตรวจสอบได้ที่เวบไซต์ “แอร์4ไทย” นำมาเทียบเคียงกับทิศทางลม และจุดความร้อนจากดาวเทียม “จีสด้า” ปีที่ผ่านมา (61-62) พบว่าแหล่งกำเนิดฝุ่น มีทั้งอยู่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง แล้วกระแสลมพัดเข้ามา โดยจะเริ่มตั้งแต่ปลายพฤศจิกายน และรุนแรงขึ้นมากในเดือนมีนาคม

ในปีนี้ช่วง 29 ก.ย.-3 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดภาวะที่เรียกว่าฤดูหนาวหลงฤดู คุณภาพอากาศมีปัญหาทั่วประเทศ สำหรับอุดรธานีคุณภาพอากาศ อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลต่อสุขภาพ โดย “เวบไซต์แอร์วิช่วน” ซึ่งเป็นของผู้ประกอบการผลิต-จำหน่าย เครื่องวัดคุณภาพอากาศ(พกพา) ราคาไม่กี่พันบาท ไม่มีในมาตรฐานไทย รายงานว่าคุณภาพอากาศอุดรธานี มีปัญหารุนแรงระดับประเทศ ซึ่งหน่วยงานราชการ จ.อุดรธานี ระบุว่า ความจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และการท่องเที่ยว

(09.00 น. 3 ต.ค.62 แอร์วิช่วน รายงานอากาศอุดรธานี 154 เอคิวไอ. 61 ไมโครกรับต่อ ลบม.)

(10.00 น.3 ต.ค. แอร์วิช่วน รายงานอากาศอุดรธานี 122 เอคิวไอ พีเอ็ม 2.5 / 44 ไมโครกรังต่อ ลบม. ขณะ แอร์4ไทย รายงานอากาศขอนแก่น 80 เอคิวไอ พีเอ็ม 2.5 / 45 ไมโครกรังต่อ ลบม. ,)

หน่วยงานรัฐอุดรธานี แจ้งความพร้อมว่า มลพิษที่เกิดจากไปเสียรถยนต์ สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี มีแผนตรวจรถมีควันดำ ในส่วนรถบรรทุก , รถโดยสาร และมีแผนตรวจรถหน่วยราชการด้วย โดยมีเครื่องวัดเครื่องที่ 1 ชุด ส่วนรถส่วนบุคคลเป็นหน้าที่ของตำรวจ ขณะตำรวจเองไม่มีเครื่องตรวจ , สำหรับไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชน ป่ารกร้าง พื้นที่ริมถนน ให้หน่วยงานรับผิดชอบดูแล ส่วนพื้นที่การเกษตรนาข้าว ไร่อ้อย ได้ขอความร่วมมืองดเผา

ในส่วนอุตสาหกรรมในพื้นที่มี 400 โรง มีโรงงานที่ต้องเฝ้าระวัง 40 โรง น่าจะสามารถควบคุมได้ ขณะโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ 4 โรง ขนาดเล็ก 1 โรง ปีนี้คณะกรรมการอ้อยน้ำตาล มีประกาศควบคุมการเผา ให้ปีนี้โรงงานต้องนำอ้อยสดเข้าโรงงาน 70 เปอร์เซ็นต์ ปีต่อไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ และอนาคตจะเป็นอ้อยสด 100 เปอร์เซ็นต์

(ปีที่แล้วมีรายงานว่า รง.ซื้ออ้อยสดแยกเป็น โรงงานน้ำตาลเกษตรผล 49 เปอร์เซนต์ , โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี 48 เปอร์เซนต์ , โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี 35 เปอร์เซนต์ และโรงงานน้ำตาลเริ่มอุดม 29 เปอร์เซ็นต์…หวังว่าอ้อยสด 70 เปอร์เซนต์จะทำได้ )

ที่ประชุมแจ้งด้วยว่า ปีที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ ได้นำรถโมบายตรวจคุณภาพอากาศ (ราคา 13 ล้านบาท ) มาจอดตรวจคุณภาพอากาศ บริเวณสนามทุ่งศรีเมืองอุดรธานี พบว่าคุณภาพอากาศก็ปกติ (วันนั้นค่าตรวจวัดของรถโมบาย PM 2.5 เวลา 07.00 , 08.00 และ 09.00 น. ได้ค่า 7 , 1 และ 6 ไมโครกรัมต่อ ลบม. เมื่อเทียบกับเวฟไซด์ของแอร์วิช่วนวัดได้ค่า 15.1 , 11.8 และ 8.7 ในช่วงเวลาเดียวกัน) โดยที่ประชุมไม่ได้บอกว่า รถโมบายมาถึงวันที่ 22 พ.ค.62 หลังจากปิดหีบอ้อยไปแล้วกว่า 1 เดือน

อย่างไรก็ตามก็ทำให้ ทน.อุดรธานี ได้จัดสรรงบประมาณ จัดซื้อเครื่องวัดคุณภาพอากาศ 4 เครื่องๆละ 120,000 บาท ที่สามารถตรวจวัด พีเอ็ม 10 , พีเอ็ม 2.5 และก๊าซบางอย่างได้ อยู่ระหว่างการดำเนินการ และได้บรรจุแผนจัดหาเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ มาตรฐานเท่ากับรถโมบายของกรมควบคุมมลพิษ 1 สถานี ราคา 1.3 ล้านบาท และศูนย์สุขภาพอนามัยที่ 8 ได้รับการสนับสนุนเครื่องตรวจคุณภาพอากาศ “ดัชบอย” จาก ม.เชียงใหม่ 4 เครื่องมาติดที่ รพ.ใน อ.เมือง , อ.กุมภวาปี , อ.หนองหาน และ อ.บ้านผือ จะติดตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี สั่งที่ประชุมว่า เรื่องคุณภาพอากาศนายกรัฐมนตรี สั่งการมีแนวทางปฏิบัติมาแล้ว เพราะกระทบต่อการท่องเที่ยว เป้าหมายสำคัญคือทำอย่างไร จะไม่ให้กระทบกับชีวิตประจำวัน เราจะต้องสร้างอากาศดีให้คนอุดรธานี และให้กับคนที่เดินทางมาเยือน การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ทุกฝ่ายจะร่วมกัน ไม่ใช่ใคร หรือหน่วยงานใด แต่ทุกหน่วยต้องช่วยกัน การพ่นน้ำจะเป็นหนทางสุดท้าย

“ ผมให้ความสำคัญกับการทำงาน ว่าเราทำกันแบบไหน เพื่อลดหรือแก้ปัญหา แผนงานแต่ละหน่วยนำเสนอวันนี้ ให้กลับไปทำแผนปฏิบัติการณ์ โดยนำข้อมูลจากหน่วยงานข้างเคียง ว่าเราจะมีแผนทำอะไรบ้าง แล้วนำกลับมาเสนอใหม่อีก 2 สัปดาห์ จะต้องสรุปให้ได้ว่า แต่ละกิจกรรมเราจะทำตอนไหน หากจะมีการเผาช่วงไหนที่ทำได้ ช่วงไหนทำไม่ได้ ไปดูว่าปีที่แล้วทำไปแล้ว ปีนี้ไปตามดูว่าจะปรับแก้อย่างไรบ้าง “

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวอีกว่า ในชุมชนเมืองต้องไม่มีการเผาเด็ดขาด , ตำรวจจะจัดการอย่างไร เมื่อไม่มีเครื่องวัดควันดำ , ให้หน่วยงานอุดรธานี รายงานคุณภาพอากาศเทียบเคียง ตามหลักวิชาการทุกวันเวลา 10.00 น. หากเวบไซต์อื่นรายงานคุณภาพอากาศ ว่าอุดรธานีเลวร้าย ไม่ตรงกับรายงานของจังหวัด ตนจะออกมาตอบโต้เอง เพราะรายงานอื่นที่นำมาเปิดเผย เป็นเครื่องตรวจเฉพาะจุด ราคาเพียงไม่กี่พันบาท รายงานที่ออกมาจึงไม่ใช่ของจริง…….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments