วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมจ่อ4ปีรถแร่ทองแดงลาวตกห้วยยังไม่จบ

จ่อ4ปีรถแร่ทองแดงลาวตกห้วยยังไม่จบ

4 ปี รถขนแร่ทองแดงจาก สปป.ลาว พลิกคว่ำ โลหะหนัก-ทองแดง-ตะกั่ว-สารหนู ยังคงตกค้างในตะกอนดิน ใต้ลำห้วยบ้านนาดี ริมถนนมิตรภาพ ตัวแทนบริษัทอ้างหาผู้รับเหมาไม่ได้ รองผู้ว่าอุดรฯลั่น คนทำเสียหายต้องรับผิดชอบ สั่งแจ้งความดำเนินคดีอาญา ผู้จ้าง-ผู้ขน

เวลา 14.00 น. วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวันชัย จันทร์พร รอง ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะทำงานแก้ไขกรณีปัญหารถบรรทุกแร่ทองแดง พลิกคว่ำลงในคลองสาธารณะบ้านนาดี ต.ผาสุก อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี มีนายอาทิตย์ คำซองเมือง อัยการผู้ช่วย สนง.อัยการ จ.อุดรธานี นายสุรชัย กุลทอง ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม ทสจ.อุดรธานี นายสายัณห์ หมีแก้ว ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม(สวล.) สิ่งแวดล้อม ภาค 9 อุดรธานี นำคณะทำงาน และตัวแทน บ.เอสเคที ทราน จก. เข้าร่วมประชุม

นายสุรชัย กุลทอง ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม ทสจ.อุดรธานี กล่าวว่า อุบัติเหตุตัวพ่วงรถบรรทุก “สินแร่ทองแดง” จาก สปป.ลาว ปลายทางท่าเรือแหลมฉบัง ตกลงไปในลำห้วยสาธารณะ บ.นาดี ริมถนนมิตรภาพ ตั้งแต่คืน 5 ส.ค.60 บ.เอส เค ที ทราน จก. เจ้าของรถบรรทุก รับว่าจ้างช่วงจาก บ.ลินฟอกซ์ ทรานสปอร์ต ประเทศไทย จก. ได้เข้ามาเก็บกู้สินแร่ 2 ครั้ง ยังคงตรวจพบทองแดง ตะกั่ว สารหนู เกินค่ามาตรฐานในตะกอนดิน และสัตว์น้ำ (หอย) ในการแก้ไขปัญหาครั้งที่ 3 บริษัทฯไม่จริงจังแก้ไขส่งเพียงตัวแทนมา จนถึงขณะนี้ยังไม่ทำการเก็บกู้ใหม่ จนฝนตกลงมาไม่น่าจะเก็บกู้ได้ จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณาเก็บกู้ฟื้นฟูเอง

นายสายัณห์ หมีแก้ว ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สวล. ภาค 9 อุดรธานี กล่าวว่า หลังเกิดอุบัติเหตุผู้รับจ้าง ได้ขนเอาสินแร่ส่วนใหญ่ออกไป แต่ก็ยังคงตกค้างจุดเกิดเหตุ ขณะน้ำในลำห้วยไหลแรง โลหะหนักอันตรายไหลไปไกล ตรวจพบไปไกลกว่า 10 กม. ไปจนถึงทะเลบัวแดง จึงขอให้บริษัทฯนำผ้ากรองมาปิดกั้น ผลการตรวจน้ำ ตะกอนดิน และสัตว์น้ำ พบการปนเบื้อน จึงออกประกาศห้ามใช้น้ำ จับสัตว์น้ำ และไปสัมผัสกับดินโคลน ต่อมาคุณภาพน้ำปนเปื้อนหายไป แต่ยังพบในตะกอนดิน และสัตว์น้ำบางชนิด ในระทาง 1 กม.

“ การเก็บกู้ฟื้นฟูลำห้วยครั้งแรก ไม่ได้ทำแบบแห้งและทำไปเพียง 300 ม. ผลการตรวจดินยังเกินมาตรฐาน มีการเก็บกู้ฟื้นฟูครั้งที่สอง เป็นการทำงานแบบลำห้วยแห้ง 1 กม. แม้โลหะหนักอันตรายในดิน จะลดลงแต่ยังเกินค่ามาตรฐาน มีการพูดคุยเรื่องเก็บกู้ฟื้นฟูรอบที่สาม ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา บริษัทฯว่าจ้างสูบน้ำออก แต่ไม่เข้ามาดำเนินการต่อ จนขณะนี้ฝนตกลงมาแล้ว ไม่เหมาะจะเข้าไปเก็บกู้ฟื้นฟู จากสภาพลำห้วยไม่แห้ง และทางเข้าออกชาวบ้านเริ่มทำนาแล้ว เห็นควรเก็บกู้ฟื้นฟูเองหลังฤดูฝน ”

ผศ.ธีธวัช สิงหศิริ ภาควิชาสิ่งแวดล้อม มรภ.อุดธานี กล่าวว่า รัฐน่าจะต้องเข้ามาฟื้นฟูเอง หลังจากฤดูฝนผ่านพ้นไป โดยจะต้องเป็นการเก็บกู้แบบแห้ง เก็บอีกครั้งให้สมบูรณ์ที่สุด เวลาผ่านไปนานก็ยิ่งไม่ดี โลหะหนักอันตรายที่ตกค้าง เมื่ออยู่นานไป ก็ยิ่งจะปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร มันก็จะต่อกันไปเรื่อย ๆ

นายอาทิตย์ คำซองเมือง อัยการผู้ช่วย สนง.อัยการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า เหตุเกิดผ่านมาเกือบ 4 ปีแล้ว บางเรื่องอาจจะหมดอายุความ แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ อยากจะให้ทางจังหวัด พิจารณาเรื่องดำเนินคดีอาญาตาม พรบ.วัตถุอันตราย ควบคู่ไปกับการความผิดทางแพ่งตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ และสามารถดำเนินการได้ทั้ง บริษัทที่รับจ้างขนแร่โดยตรง และบริษัทรับช่วงขนแร่ จนมาเกิดอุบัติเหตุในครั้งนั้น

ขณะนายเรืองฤทธิ์ โคตรสมบัติ ตัวแทน บ.เอส เค ที ทราน จก. กล่าวว่า เข้ามารับผิดชอบตั้งแต่เก็บกู้รอบสอง และมาร่วมแก้ไขปัญหามาตลอด ยอมรับว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ ทุกเรื่องที่รับมาแจ้งผู้บริหารทั้งหมด รวมถึงวันนี้ก็จะไปแจ้ง พร้อมระบุว่าที่บริษัทฯ ไม่ได้เข้ามาเก็บกู้ในรอบที่สาม เพราะไม่สามารถหาผู้รับจ้างได้ ขณะผู้รับจ้างที่ทางราชการหาให้ ผู้บริหารบอกว่ามีราคาสูงเกินไป

นายวันชัย จันทร์พร รอง ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า บริษัทฯทำให้เกิดความเสียหาย บริษัทจะต้องรับผิดชอบ ขณะที่ภาครัฐเองจะต้องรีบแก้ไข ด้วยการหาวิธีการต่าง ๆมา ให้ผู้รับผิดชอบไปดำเนินการ 1. ไปดูว่าผู้รับจ้างขนที่แท้จริงคือใคร ใครจะต้องรับผิดชอบ หรือทั้งสองฝ่าย , 2.หากพบผู้กระทำผิดในคดีอาญา ให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง , 3.ในเรื่องของคดีแพ่ง ให้ไปดูอีกครั้งว่า ถ้าเป็นระยะฝนทิ้งช่วงราว 1 เดือน จะสามารถเข้าดำเนินการ เก็บกู้ฟื้นฟูได้เหรือไม่ให้ดำเนินการ , 4. เรื่องค่าใช้จ่ายให้ถามกรมควบคุมมลพิษ จะช่วยเราได้หรือไม่ หรือจะต้องหาในส่วนอื่น และ 5.ให้ประมง เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำตรวจอีกครั้ง…

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments