วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
Google search engine
หน้าแรกท้องถิ่นหอมน้ำตาลอ้อยอินทรีย์ที่บ้านนางาม

หอมน้ำตาลอ้อยอินทรีย์ที่บ้านนางาม

ในการประชุมระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัยครั้งที่ 6 ภายใต้ชื่อ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 6 ราชภัฏ ราชภักดิ์ : สืบสานศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนา ท้องถิ่นที่ยั่งยืน” 17-18 ส.ค. 63 ณ มรภ.จันทรเกษม “วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม” ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ขึ้นรับโล่พระราชทาน รางวัลนักวิจัยจากชุมชนดีเด่น ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ณ บ้านเลขที่ 74 ม.11 บ.นางาม ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ถูกนำมาใช้ที่ตั้ง “วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม” ซึ่งเป็นบ้านของนายสมบูรณ์ ภูน้ำทรัพย์ อายุ 47 ปี ประธานฯ ทีมงานได้พบกับประธานฯ และสมาชิกอีก 8 ครอบครัว พานำชมโรงงานขนาดเล็ก ผลิตสินค้าจากอ้อยปลอดสาร หรืออินทรีย์ 5 ผลิตภัณฑ์ อาทิ น้ำอ้อย , น้ำตาลปึก , น้ำตาลผง , น้ำตาลก้อน และน้ำตาลไซรัป ที่องค์การอาหารและยา รับรองไปเมื่อ 15 ต.ค.62

จากนั้นพานำดู “ลานหีบอ้อยโบราณ” ห่างไปเพียงร้อยเมตรเศษ ที่นี่ร่มรื่นด้วยร่มไม้ใหญ่ ลูกหีบอ้อยทำจากไม้พันชาด (ไม้แกร่ง) อายุกว่า 60 ปี ไม่ได้ใช้งานมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังพอขยับให้เห็นวิธีหีบอ้อยได้ เมื่อชาวบ้านนำเอาอ้อยยัดเข้าไป แล้วช่วยกันเอามือหมุน จำลองอดีตที่จะใช้แรงคน-ควาย-ควายเหล็ก ทำน้ำตาลอ้อยปึกเก็บไว้กิน ก่อนที่จะมีโรงงานน้ำตาลมาตั้ง โดยทุกปีหลังเกี่ยวข้าวเสร็จไม่นาน ชาวบ้านก็จะตัดอ้อยขนมา เข้าคิวรอเข้าเครื่องหีบ เจ้าของอ้อยก็เก็บเอาน้ำอ้อย ไปเคี่ยวที่ตั้งเตาอยู่รอบๆ วนเวียนอยู่กันเป็นเดือนๆ เพราะลานหีบอ้อยมีอยู่แห่งเดียว น้ำตาลอ้อยที่ได้ก็เก็บไว้กิน บางคนก็เอาไปแบ่งขาย เพราะมันหอมและอร่อยมาก

ต่อด้วยไปชมแปลงปลูกอ้อยอินทรีย์ ที่ไม่สวยงามเหมือนอ้อยส่งโรงงาน เพราะเป็นอ้อยไม่ได้ใช้สารเคมีทุกชนิด ก่อนจะกลับมาที่วิสาหกิจชุมชนฯ เพื่อแสดงขั้นตอนผลิตสินค้า เริ่มจากการหีบอ้อยด้วยเครื่องรุ่นใหม่ จากงานวิจัยของ มรภ.อุดรธานี ขึ้นตอนการกรอง , เคี่ยวไฟ , เทลงพิมพ์ และออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ คงเหลือแต่เพียง “การผลิตน้ำไซรัป” จากเครื่องมือของ มรภ.อุดรธานี เช่นกัน

นายสมบูรณ์ ภูน้ำทรัพย์ อายุ 47 ปี ประธานฯ เล่าว่า เมื่อโรงงานน้ำตาลมาตั้ง เอาพันธุ์อ้อยใหม่มีส่งเสริม ชาวบ้านก็หันไปปลูกอ้อยส่งโรงงาน การหีบอ้อยที่ลานก็น้อยลงเรื่อยๆ มีชาวบ้านหลายคนยังทำอยู่ แต่กลิ่นไม่หอมเหมือนเดิม คงเพราะใช้ปุ๋ย-สารเคมี-ยาฆ่าหญ้า การทำน้ำตาลอ้อยก็หยุดไปราว 10 ปีแล้ว จน 2 ปีก่อนกลับมาทำใหม่เป็นอ้อยอินทรีย์ โดยใช้อุปกรณ์หีบแบบไฟฟ้า ร่วมกันลงทุนจัดหาอุปกรณ์ 8 คน ได้เครื่องหีบแบบง่ายๆ ผลิตได้เพียง 2-3 วัน/1ตันอ้อย ”

ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ เล่าต่อว่า มีลูกหลานเรียนที่ มรภ.อุดรธานี ไปเล่าเรื่องน้ำตาลอ้อยที่นี่ ก็มีอาจารย์เดินทางมาพบ ให้คำแนะนำจนปีก่อน จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์ได้รับรองจาก อย. ผลิตออกขายเป็นปีแรก ทั้งตลาดในพื้นที่ ในจังหวัด และส่งไปขาย แต่เราผลิตได้เพียง 9 ตันอ้อยเท่านั้น หรือได้น้ำตาลอ้อย 900 กก. ขายหมดในไม่กี่เดือน จากกลิ่นหอมธรรมชาติกลับมาอีก มรภ.อุดรธานี จึงมาสนับสนุนเครื่องใหม่มูลค่า 2 แสนกว่าบาท กำลังหีบชั่วโมงละ 1 ตันอ้อย

“ สมาชิกปลูกอ้อยอินทรีย์ไว้ 200 ตันอ้อย จะเริ่มหีบอ้อยธันวาคมนี้ เพื่อผลิตสินค้าไปอีกราว 6 เดือน จะได้น้ำตาลอ้อยอินทรีย์สูงสุด 20 ตัน เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่กล้าทำสัญญา เกรงว่าจะทำให้เขาไม่ทัน จะต้องเดินเครื่องผลิตไประยะหนึ่งก่อน โดยได้กำหนดเราไว้แล้ว ขายส่ง/กก. น้ำตาลผง 300 บาท , น้ำตาลปึก 100 บาท , น้ำตาลก้อน 250 บาท น้ำไซรัป 50 บาท และน้ำอ้อย 30 บาท ส่วนที่บรรจุแพ็คเก็ต 50 ชิ้นขึ้นไปจะได้ราคาส่ง ”

นายสมบูรณ์ ภูน้ำทรัพย์ ประธานฯ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน เกษตรอินทรีย์วิถีไทย บ้านนางาม นอกจากปฏิเสธเคมีทุกชนิดแล้ว ยังมีแผนจะนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือ รวมทั้งของเหลืออื่นๆ กลับมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น การขูดเปลือกอ้อยออกก่อนหีบ , นำชานอ้อยทำเชื้อเพลิง , นำชานอ้อยมาบดทำเป็นถ่านอัด , นำชานอ้อยและเศษน้ำอ้อยทำปุ๋ย

นี่คือ “นักวิจัยท้องถิ่นดีเด่น” รางวัลพระราชทานปี 63 แห่งบ้านนางาม ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ได้หยิบเอาวิถีชีวิต-ภูมิปัญญา ของผู้คนในอดีต ที่ถูกทิ้งร้างจากเพราะมีภาคอุตสาหกรรม จนเกือบจะสูญหายไปมาปัดฝุ่น มาบวกกับกระแสเกษตรอินทรีย์ และจากแรงเสริมของนักวิชาการ มรภ.อุดรธานี ทำให้วันนี้ “น้ำตาลอ้อยหอมๆ” กลับมาในสังคมบ้านเราอีกครั้ง….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments