เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มกราคม 2565 ที่หอประชุมทองใหญ่ ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายประภัตร โพธสุธน รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยแกนนํากลุ่มผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสุกร เป็นการเริ่มต้นภารกิจตรวจเยี่ยมลงพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ระหว่างวันที่ 12 – 15 มกราคม 2565
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี ได้รายงานข้อมูลการเกษตรในพื้นที่ จ.อุดรธานี ในเบื้องต้นโดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุดรธานี จ.หนองคาย จ.สกลนคร และ จ.หนองบัวลำภู พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการเงิน และแกนนํากลุ่มผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 12 จังหวัด ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในการแก้ไขปัญหาจากนโยบายของรัฐบาล “โครงการสานฝันสร้างอาชีพยกระดับรายได้เกษตรกร”
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีมีสถานที่ประกอบการฟาร์มสุกร 3,795 ฟาร์ม แยกเป็น ขนาดใหญ่ 3 ฟาร์ม ขนาดกลาง 210 ฟาร์ม ขนาดเล็ก 3,582 ฟาร์ม มีจำนวนสุกรทั้งสิ้น 346,964 ตัว สาเหตุสำคัญที่ทำให้เนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคระบาดในสุกร ได้แก่ การติดเชื้อโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) หรือเพิร์ส จนทำให้ปริมาณเนื้อสุกรที่เข้าสู่ทางตลาดมีปริมาณน้อยลง และเกษตรกรรายย่อยประสบภาวะขาดทุน
“ เบื้องต้นได้ให้ความช่วยเหลือ เป็นเงินชดเชยแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย 17,376,433.25 บาท มีเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือ 122 ฟาร์ม มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ได้ดำเนินการเฝ้าระวังการระบาดของโรค ชี้แจงให้ความรู้เกษตรกรในการป้องกัน การปฏิบัติเมื่อเกิดโรค การปฏิบัติเมื่อโรคสงบ และการเฝ้าระวังเชิงรุก ลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มสุกร และตั้งด่านสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) รวมถึงการพัฒนาสู่ฟาร์มมาตรฐาน (GAP) “
นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ข่าวพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร( ASF)ในประเทศไทย กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว จากการสำรวจฟาร์มเลี้ยงหมูทั่วประเทศ 109 แห่งพบแล้ว 1 แห่ง ประเทศไทยเราเลี้ยงหมูปีละ 20 ล้านตัว มีเกษตรกรทั่วประเทศเลี้ยงหมู 190,000 ราย แบ่งเป็นรายย่อย 186,000 ราย รายใหญ่มีไม่กี่ร้อยราย ซึ่งรายใหญ่มีอิทธิพลจากส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70 % รายย่อยมีส่วนแบ่งตลาด 20 % ปัญหาหมูแพงขณะนี้ เกิดขึ้นจากโรคระบาด แล้วหมูออกสู้ตลาดไม่ทัน ทุกวันนี้เราบริโภคหมู 22 กก./คน/ปี 1,800,000 ตัวต่อปี สองปีที่ผ่านมาหมูประเทศเพื่อนบ้านเป็นโรค ประเทศไทยก็เร่งส่งออกเพราะราคาดี จุดนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หมูราคาแพง
“ สำหรับภาคอีสานมีเกษตรกรเลี้ยงหมู 77,000 คน เราจึงเดินทางมาภาคอีสานก่อน เพื่อทำความเข้าใจให้กับเกษตรกร จากนี้เราจะฟื้นฟูผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่มีประมาณ 7 หมื่นกว่าคน ส่วนผู้เลี้ยงหมูและหมูตายไปเรามีการชดเชย จากนี้จะมีการเพิ่มประชากรหมูให้ทันไม่เกิน 3 เดือน โดยกระทรวงฯจะให้กรมปศุสัตว์ ร่วมกับสถาบันเกษตรที่มีอยู่ 40 แห่ง ช่วยระดมเอาแม่หมูมาเพาะเลี้ยงเพื่อเอาลูกหมูให้ทัน และจัดการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพด เพื่อเป็นอาหารสัตว์ จะทำให้ต้นทุนของอาหารสัตว์ลดลงและทำให้ราคาหมูลดลง ”
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีเงิน 30,000 ล้านบาท ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” สัปดาห์หน้าจะมีการออกเงื่อนไข สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อให้ทุกคนเกิดสภาพคล่อง และให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการแก้ไขปัญหาครั้งนี้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตร จะช่วยกันผลักดันโครงการต่างๆ ในจังหวัด ซึ่งนอกจากอาชีพเลี้ยงหมูแล้ว จะส่งเสริมอาชีพอะไรได้อีกก็ได้ทุกอาชีพ อีกทั้งยังจะมีการประกันชีวิตหมู ในค่าเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 300 บาท หากหมูตายจ่าย 7,000 บาท/ตัว โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. อยากเชิญชวนเกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูเหมือนเช่นเดิม