วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Google search engine
หน้าแรกธุรกิจอุตฯลุยน้ำโชว์ ชบ. สั่งปรับปรุงรง.ยางเครปเหม็น

อุตฯลุยน้ำโชว์ ชบ. สั่งปรับปรุงรง.ยางเครปเหม็น

อุตสาหกรรมอุดรธานีลงพบชี้แจง ชบ.ประท้วงโรงงานยางเครปเหม็น-ปล่อยน้ำเสีย ลงทุนถอดรองเท้าถุงเท้า ลุยพิสูจน์น้ำในลำห้วยไม่เน่า ทำได้เพียงสั่งปรับปรุงขีดเส้นตาย 28 ก.พ. รื้อทิ้งท่อน้ำปริศนา แก้ระบบบำบัดน้ำเสีย กำจัดน้ำเซรั่ม ใช้ผ้าใบคลุมกองยาง แนะซื้อที่ดินเพิ่มหากอยากทำต่อ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 มกราคม 2562 ที่ศาลาประชาคมบ้านป่าก้าว หมู่ 6,12 ต.ผักตบ อ.หนองหาน นายคำปลาย คำแพงราช อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านผักตบ นำชาวบ้านกว่า 70 คน ที่ประท้วงต่อต้านโรงงานยางเครป บ.ปริ้นซ์ รับเบอร์ จก. เลขที่ 105 ม.12 บ้านป่าก้าว เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้ปิดโรงงาน เพราะส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง และระบายน้ำลงลำห้วยยาง จนน้ำเน่าไม่สามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรได้ เดินทางมารวมตัวรับฟังคำชี้แจงจาก นายพัดทอง กิตติวัฒน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี

นายคำปลาย คำแพงราช แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ตั้งแต่โรงงานยางเครปแห่งนี้สร้างขึ้น โดยก่อนหน้าจะก่อสร้างแจ้งกับผู้นำท้องที่ และชาวบ้านว่า จะสร้างโรงงานผลิตถุงมือยาง แต่กลับเป็นโรงงานยางเครป ที่สร้างความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็น ปล่อยน้ำเสียลงลำห้วยยาง จนชาวบ้านหากินไม่ได้ ส่วนตัวอย่างน้ำที่เก็บไป ก็ไมรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนน้ำส่งไปตรวจหรือไม่ โดยชาวบ้านต้องการให้อุตสาหกรรมจังหวัดสั่งปิดโรงงานไปเลย เพราะตั้งแต่มาสร้างโรงงาน ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก

นายพัดทอง กิตติวัฒน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ชี้แจงให้ชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังว่า มีหนังสือแจ้งถึง โรงงานยางเครป บ.ปริ้นซ์ รับเบอร์ จำกัด ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ตาม ม.37 วรรคหนึ่ง พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 ตามที่เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.โรงงาน 2535 ได้ตรวจสอบโรงงานพบว่าระบบบำบัดน้ำเสีย มีสภาพที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น , มีการกองวัตถุดิบคือยางก้อนถ้วย ไว้ที่ลานพื้นคอนกรีตโล่งกว้าง ทำให้กินเหม็นฟุ้งกระจายทั่วพื้นที่โรงงาน และพื้นที่ใกล้เคียง ก่อให้เกิดอันตรายความเสียหาย หรือความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงาน

จึงมีคำสั่งให้ บ.ปริ้น รับเบอร์ จำกัด ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม และป้องกันกลิ่นเหม็นที่เกิดจากกองวัตถุดิบ (ยางก้อนถ้วย) บนลานคอนกรีตโล่งกว้างและระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานให้แล้วเสร็จภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2562 หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฉบับนี้ สามารถอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนี้ ให้ยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่ง

นอกจากนี้อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ได้ออกหนังสือแนะนำ และขอความร่วมมือในการดำเนินการ 1.จัดหามาตรการป้องกันความเสี่ยงที่น้ำเสีย จากโรงงานไหลลงสู่พื้นที่ภายนอกและการรั่วซึมของน้ำเสียภายในโรงงานทั้งหมด , 2. จัดหามาตรการจัดการกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่น้ำเสียจากกาดตะกอนจะไหลชะลงสู่พื้นดิน , 3. รื้อถอนท่อพลาสติกเกี่ยวกับการระบายน้ำเสียออกนอกโรงงานทั้งหมด

ท่ามกลางความไม่พอใจของชาวบ้าน ที่ต้องการให้ปิดโรงงานอย่างเดียว พร้อมตะโกน “โห่” หาว่าอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าข้างนายทุน แต่ก็สงบลงหลังจากชี้แจงอำนาจตามกฎหมาย และร่วมกันออกไปยังโรงงาน เพื่อร่วมกับชาวบ้านเก็บตัวอย่างน้ำ ไปตรวจวิเคราะห์ใหม่ ทั้งในและนอกโรงงาน ซึ่งทางนายพัดทองฯถอดรองเท้าถุงเท้า ลงไปในลำห้วยยาง ใช้มือวักน้ำขึ้นมาให้ชาวบ้านดูว่า น้ำในห้วยยางไม่ได้เน่า แต่ที่มีสีดำคล้ำบางจุด เนื่องจากน้ำไปมีการระบาย และมีวัชพืชขึ้นมา จนเน่าส่งกลิ่นเหม็น โดยจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์น้ำใน 20 วัน

นายพัดทอง กิตติวัฒน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ได้สั่งให้แก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย รื้อท่อที่มุดออกจากตัวโรงงาน ที่สุมเสี่ยงทำให้น้ำเล็ดลอดจากโรงงาน ทั้งน้ำดี-น้ำเสียเอาออกให้หมด และให้หาวิธีในการบำบัดกลิ่น เบื้องต้นให้นำผ้าใบมาคลุมกองยางทั้งหมด ซึ่งยางที่เหลืออยู่ในโรงงานเป็นยางเครป ไม่มียางก้อนถ้วย ซึ่งทางโรงงานจะเร่งนำยางเครปส่งไปยังโรงงาน แต่ต้องรอให้ยางเครปแห้งกว่านี้ คาดว่าอีก 1-2 วันยางชุดนี้จะหมด โดยโรงงานต้องการหยุดปรับปรุงโรงงาน ซึ่งจะต้องใช้เวลานานเพราะมีขั้นตอน และต้องเพิ่มวัสดุอุปกรณ์มากพอสมควร แต่สิ่งที่ทางโรงงานทำได้เลย คือ หากมีการรับยางก้อนถ้วยเข้ามาในโรงงานอีก จะต้องหาผ้าใบคลุมปิดให้มิดชิด อย่างน้อยที่สุดก็กันกลิ่นไม่ให้กระจายไปตามอากาศ

“ เมื่อถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ต้องดูเจตนาของโรงงานว่า เขาทำหรือยัง หรือทำแล้วแต่ยังไม่เสร็จ ก็สามารถขยายเวลาออกได้ แต่หากทางโรงงานไม่มีการดำเนินการแก้ไขอะไรเลย เราก็สามารถใช้คำสั่งตามมาตรา 39(1) คือ สั่งหยุดชั่วคราวเฉพาะส่วนที่มันเป็นปัญหา โดยเฉพาะที่บ่อรับน้ำเซรั่ม ที่รีดออกมาจากยางก้อนถ้วย ได้สั่งให้โรงงานกำจัดกากตะกอน ซึ่งต้องเป็น
ผู้มีการจดทะเบียนทำลายกากอุตสาหกรรม ในประเภทอุตสาหกรรม 101 ”

อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า กล่าวด้วยว่า โรงงานต้องขุดบ่อป้องกันการรั่วซึม ทำผนังคอนกรีต บ่อต้องปูพลาสติก พีอี.กันซึมลงพื้นดิน เพื่อรอการกำจัด โดยทางโรงงานรับที่จะทำตามที่เราแนะนำทุกอย่าง เพียงแต่ว่าพื้นที่โรงงานเขาขยายไม่ได้ เราก็แนะนำให้ซื้อที่ดินที่ติดกัน แต่ตอนนี้ติดปัญหาเรื่องราคายังตกลงกันไม่ได้ เพราะหากโรงงานหากอยากทำต่อก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้ ทั้งนี้เราก็เห็นใจทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โรงงานยางเครปของ บ.ปริ้น รับเบอร์ จก. ถูกชาวบ้านร้องเรียนติดต่อกันหลายครั้ง นับตั้งแต่โรงงานยางแท่งลดการซื้อ “ยางก้อนถ้วย” หันมาสั่งซื้อ “ยางเครป” เพื่อลดปัญหากลิ่นเหม็นของยางก้อนถ้วย และน้ำเซรั่ม ทั้งนี้การตรวจสอบเยมีคำสั่งให้ “ปรับปรุง” มาแล้ว 3 ครั้ง แต่ก็ยังมีปัญหากลิ่นเหม็น จนครั้งนี้ชาวบ้านรวมตัวมาประท้วง ยกป้ายปราศรัยต่อต้านหน้าโรงงาน และวันนี้ได้เก็บตีวอย่างน้ำ พร้อมกับอุตสาหกรรม เพื่อส่งตรวจคู่ขนานกับทางราชการด้วย….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments