วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Google search engine
หน้าแรกท่องเที่ยวมรภ.-U2T-ชาวบ้านเนรมิตแปลงนาเฉลิมพระเกียรติ อ่างฯห้วยคล้าย อันเนื่องจากพระราชดำริ อุดรธานี

มรภ.-U2T-ชาวบ้านเนรมิตแปลงนาเฉลิมพระเกียรติ อ่างฯห้วยคล้าย อันเนื่องจากพระราชดำริ อุดรธานี

ทุ่งนาข้าวในพื้นที่โครงการ “ปิดทองหลังพระ” อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องจากพระราชดำริ บ.โคกล่าม-แสงอร่าม ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี นายชาลี หรือครูชาลี ศรีสุพล อายุ 59 ปี ครู รร.บ้านหนองแวงชุมพล ต.กุดหมากไฟ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.)อุดรธานี ส่งเสริมให้มีกิจกรรม “เกษตรเพื่อการท่องเที่ยว” ด้วยการปลูกข้าวเหนียว 2 สายพันธุ์ ทับทิมชุมแพ (ใบสีเขียว) และไลท์เบอร์ลี่ (ใบสีม่วงแดง) ให้เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10

แปลงนาเฉลิมพระเกียรติ ของครูชาลีฯ กำลังเติบโตอายุราว 2 เดือน เป็นที่สดุดตาของผู้มาเยือน สามารถมองจากสันเขื่อนดิน อ่างฯห้วยคล้าย จากทางทิศตะวันออก หรือมองจาก “คอคอย” เสาไม้สูงจากพื้นราว 7 เมตร จากทางทิศตะวันตก สุดจะอดใจไม่ไหวต้อง “เซลฟี่” ส่งไปให้คนอื่นได้อิจฉา แต่ก็มีคำถามตามมาว่า โครงสร้าง “สกายวอร์ค” ที่เริ่มก่อสร้างไปได้ราว 20 เมตร จะสร้างไปเส้นทางไหน และจะเสร็จเมื่อไหร่ ขณะรอบพื้นที่แปลงนา เต็มไปด้วยกลิ่นไอวิถีเกษตรอินทรีย์

 

ครูชาลีฯ เล่าว่า นาข้าวแปลงนี้เป็นมรดก พ่อแม่พาลูกหลานทำนา โครงการพระราชดำริมาสร้างอ่างฯ พ่อแม่ได้มอบพื้นที่ให้บางส่วน เหลือที่ดินมีเอกสารสิทธิ 22 ไร่ ต่อมาท่านแบ่งมาให้ 9 ไร่ ติดกับตัวอ่างฯและลำห้วย แม้จะเป็นข้าราชการครู แต่ก็ยังทำนาเหมือนเดิม เมื่อปิดทองหลังพระเข้ามา นำระบบส่งน้ำด้วยท่อมาให้ ก็เกิดแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่ เพราะด้วยความศรัทธา ความเชื่อมั่นในรัชกาลที่ 9 ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งมั่นให้พสกนิกรอยู่ดีกินดี มีความยั่งยืน ซึ่งตนจะทำตามแนวพระราชดำริของพระองค์

“ แปลงนาที่เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ร.9 และสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ ร.10 ได้ความอนุเคราะห์จากคณาจารย์ นักศึกษาจาก มรภ.อุดรธานี ด้วยเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้ น่าจะสื่อสร้างประโยชน์ไปยังชุมชน เพิ่มโอกาสให้กับชาวบ้าน โดยจะมีการสร้างสกายวอร์ค เข้าไปในแปลงนาที่ปลูกไว้แล้ว ผ่านไปยังกระท่อมนา ลัดเลาะผ่านกลางสัญลักษณ์ทั้งสอง ไปยังหอคอยที่สร้างไว้ก่อนแล้ว โดยรอบแปลงนาจะเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ผมไม่ได้หวังว่าจะมีกำไร หรือขาดทุน ”

นายศักดิ์สิทธิ์ บัวคำ อาจารย์สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มรภ.อุดรธานี เปิดเผยว่า เราใช้ศิลปะมาบูรณาการกับศาสตร์อื่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน โดยนำแลนด์อาร์ตเข้ามาประยุกต์ใช้กับแปลงนา โดยขั้นตอนแรกลงพื้นที่ ดูขนาดแปลงนา สภาพอากาศ การไหลของน้ำ มีแผนที่เป็นท๊อปวิว จะวัดขนาดด้วยการตีสะเกล ออกแบบในคอมพิวเตอร์ จะวางรูปทรงอย่างไร เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10

“ เมื่อแบบเสร็จก็ลงแปลงนา ที่พร้อมจะปักดำแล้ว วันแรกนักศึกษาคณะฯลงมือวางสะเกล แล้วปักไม้ไผ่เป็นเส้นเอาร์ทไลน์ วันที่สองนักศึกษาคณะฯ ร่วมกับโครงการมหาลัยสู่ตำบล หรือ U2T และชาวบ้าน ปักดำข้าวที่เพาะกล้าไว้แล้ว ใช้กล้าข้าวต้นที่ม่วงแดง ปักดำตามแนวเส้นภายใน ปักดำกล้าข้าวที่เขียวเพื่อเป็นพื้นหลังของภาพ ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เป็นที่สนใจของชาวบ้านเพราะเป็นสิ่งใหม่ ผ่านมาเกือบเดือนเห็นเป็นภาพสะท้อนเกิดมิติ ”

ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดี มรภ.อุดรธานี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯมาบริการวิชาการ ที่นี่หลายรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2557 เช่น แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร , ความรู้วิสาหกิจชุมชน , หลักสูตรท้องถิ่นเรื่องข้าว , การทำบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ประชาชนได้นำความรู้ไปปฏิบัติ ผลิต แปรรูป ปุ๋ย แต่ยังปัญหาเรื่องการตลาด เกษตรกรผลิตได้ ทำบรรจุภัณฑ์สวยงาม แต่ไม่รู้จะไปขายให้ใคร เคยอบรมการขายออนไลน์ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่ได้ทำต่อเนื่อง ซึ่งจะให้เยาวชนรุ่นใหม่ ที่ถนัดโซเชียลมีเดียมาช่วยอีกแรง

“ ปีนี้ได้สนับสนุนแนวทางขายผลิตภัณฑ์ มีการรวมผลิตภัณฑ์ของชุมชน นำไปขายตามตลาดชุมชน หรือสถานที่ที่อนุญาตเป็นครั้งคราว เรคิดสร้างแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อขายให้นักท่องเที่ยว จึงเกิดเป็นกิจกรรมดำนารูปในหลวงขึ้น ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีภูมิประเทศที่สวยงาม สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ จึงวางแผนปลูกข้าวในรูปแบบที่น่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งออกแบบเป็นU2T พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้สอดคล้องกับโครงการ ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ”

ดร.วิบูล กล่าวต่อว่า ได้รับความร่วมมือจากครูชาลี ศรีสุพล เจ้าของพื้นที่ ซึ่งเป็นข้าราชการครู และยังเป็นเกษตรกรด้วย พร้อมวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ มาร่วมกันพัฒนาให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกจากนาข้าวในแปลงนาหน้าอ่างฯ ยังมี U2T มาช่วยก่อสร้างสะพานเดินเท้า ข้ามแปลงนาไปยังช่วงระหว่าง พระบรมพระบรมสาทิสลักษณ์ และตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ หลังเก็บเกี้ยวข้าวแล้ว จะร่วมกับชุมชนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักเมืองหนาว สตอเบอรี่ เมล่อน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา ชาวบ้านนำผลิตผลมาขายในบริเวณนี้ ….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments