วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Google search engine
หน้าแรกธุรกิจขอทบทวน ทย.ยกสนามบินอุดรให้ ทอท.

ขอทบทวน ทย.ยกสนามบินอุดรให้ ทอท.

อุดรฟอร์รั่ม2029 จับมือพันธมิตร ขอคมนาคมทบทวน เปลี่ยนมือบริหารสนามบินอุดรธานี เปิดทางทุกฝ่ายในเวทีสาธารณะ โชว์วิสัยทัศน์-แจงแผนพัฒนา หยุดมัดมือชกเหมือนอดีต ให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 อุดรฟอร์รั่ม 2029 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี , สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอุดรธานี , สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี และยูดี.ทาวน์ นำโดย พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บ.อุดรธานีพัฒนาเมือง จก. จัดเวทีเสวนา “สนามบินนานาชาติอุดรธานี วันนี้เป็นของใคร ” โดยมีนายธนันชัย สามเสน ประธานหอการค้า สมัยที่ 17 , รองประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี , นักธุรกิจ , อดีต จนท.กรมท่าอากาศยาน , นักวิชาการ และสื่อมวลชนเข้าร่วม

ในเวทีเสวนา ระบุว่า มีข่าวนำเสนอมาต่อเนื่อง เรื่องการเปลี่ยนผู้บริหารสนามบินอุดรธานี จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้ บ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท) จก.(มหาชน) ทั้งจากทางราชการ และ ทอท. ซึ่งจะเปลี่ยนพร้อมกันอีก 3 สนามบิน คือ สนามบินสกลนคร สนามบินตาก และสนามบินชุมพร จนใกล้จะสรุปข้อตกลงกันแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลให้คนในพื้นที่ จึงอยากจะรับทราบข้อมูล และมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา เพราะสนามบินถือเป็นบริการสาธารณะ ไม่ใช่ธุรกิจแสวงหากำไรสูงสุด

ทั้งนี้สนามบินอุดรธานีอดีต-ปัจจุบัน มีการพัฒนามาตามลำดับ ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารปีละ 3.5 ล้านคน ในปี 61 มีผู้โดยสาร 2.65 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อน 2.8 เปอร์เซ็นต์ จึงมีแผนการสร้างอาคารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสารให้ได้รวม 7.5 ล้านคน แต่ที่ผ่านมาการจัดการของ ทย.มีปัญหาความคล่องตัว , การก่อสร้างอาคารหลัง 1 และ 2 ใช้งานเชื่อมกันไม่ได้สมบูรณ์ , การตัดสินใจสร้างหลุมจอด แทนที่จะเพิ่มห้องผู้โดยสารที่แออัด , การให้กลุ่ม ปตท.ผูกขาดลานจอดรถทั้งหมด และร้านค้าในอาคาร 2 ทำให้ค่าจอดรถ และราคาอาหารสูงมาก กระทบกับผู้โดยสาร-พนักงานลูกจ้างของ ทย. ,และผู้ประกอบการในพื้นที่

หากเปลี่ยนให้ ทอท.บริหาร แม้เชื่อว่าจะเกิดความคล่องตัว มีประสบการณ์และความพร้อมบุคคลากร จะทำให้มีเที่ยวบินจากต่างประเทศมาลง แต่มีสิ่งที่เป็นห่วงในหลายเรื่อง 1.ค่าสนามบินต่อคนเพิ่มจาก 50 บาทเป็น 100 บาทต่อคน (เพิ่มปีละ 130 ล้านบาท) , ค่าธรรมเนียมเครื่องบินขึ้น-ลงเพิ่มขึ้น (ไม่รู้จำนวน) , นโยบายการบริหารพื้นที่เชิงธุรกิจ ที่จะให้นักลงทุนรายใหญ่มารับช่วง และขายพื้นที่ต่อผู้ประกอบการ ก็จะมีสภาพเหมือนที่จอดรถ และพื้นที่ธุรกิจในอาคาร 2 ผู้ประกอบการค้าในท้องถิ่น และสินค้าชุมชนจะหายไป ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นถูกผลักให้ผู้บริโภค แล้วผู้โดยสารหรือชาวอุดรธานี จะได้อะไรเพิ่มจากเงินที่จ่ายเพิ่ม

ผู้ร่วมเสวนาได้เสนอแนวทางเพิ่มเติม ไม่ใช่เพียง ทย. หรือ ทอท. เท่านั้นที่จะบริหารสนามบินอุดรธานี แต่ยังมีเอกชนในพื้นที่ หรือรายอื่นๆ สามารถทำได้ เพราะระบบบริหารจัดการ และมาตรฐานมีขั้นตอนอยู่แล้ว แต่ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น รวมไปถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง อบจ.อุดรธานี หรือ ทน.อุดรธานี มาบริหาร ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นหรือหลายประเทศ ก็ให้ท้องถิ่นบริหาร และที่ผ่านมา ทน.อุดรธานี ก็เคยเสนอตัวบริหารมาแล้ว 2 ครั้งแต่ถูกปฏิเสธ แต่หากการบริหารสนามบิน โดยประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม อุดรธานีจะไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่

พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บ.อุดรธานีพัฒนาเมือง จก. กล่าวสรุปว่า เวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้มีข้อมูลเพิ่ม และก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ถ้ามีการเปลี่ยนมือบริหาร ผู้โดยสารต้องจ่าย ทอท.เพิ่มทันทีปีละ 130 ล้านบาท แล้วผู้โดยสารจะได้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ขณะที่เรื่องการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น ก็ไม่ได้รับความสนใจมาตั้งแต่อดีต ในเรื่องนี้ “อุดรฟอร์รั่ม 2029” จะทำหนังสือไปยัง รมว.คมนาคม และผู้เกี่ยวข้องให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ แล้วกลับมาทบทวนใหม่

“ โดยจะมีข้อเสนอให้ทั้ง ทย. , ทอท. , อปท. , เอกชนอื่น และภาคประชาชน มาร่วมในเวทีสาธารณะที่อุดรธานี นำเสนอวิสัยทัศน์ และแผนบริหารจัดการ ให้ชาวอุดรธานีได้รับทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ตลอดจนรับฟังความเห็นคนในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม โดยการยื่นหนังสือในครั้งนี้จะรีบดำเนินการ เพราะขณะนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ในการที่ บ.ท่าอากาศยานไทย จก.(มหาชน) จะเข้าใช้พื้นที่สนามบินอุดรธานีและอีก 3 แห่ง ได้หรือไม่อย่างไร ”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments