อุดร MOU 29 องค์กร แก้ PM 2.5 ร่วมจัดการที่ต้นตอ รับรองประกาศห้ามเผาที่โล่ง 1 ธ.ค.66-15 พ.ค.67 วงการอ้อยกระเทือน จับตารัฐยังไม่จ่ายค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปี 2566 – 2567 ของ 20 หน่วยงานรัฐ , 2 อปท. และ 7 ภาคเอกชน บ.เอสซีจี.ซีเมนต์ จก.(รับซื้อใบอ้อย) , รง.น้ำตาลเกษตรผล , รง.น้ำตาลเริ่มอุดม , บ.น้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม , รง.น้ำตาลไทยอุดรธานี , สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย และสมัชชาสุขภาพอุดรธานี
ในบันทึกความร่วมมือ ระบุว่า สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ได้ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2566 ให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชม. ต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลบม. ขณะที่ปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจทำให้สถานการณ์ PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตกลงดำเนินกิจกรรมความร่วมมือ ตามนโยบายด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 ดังนี้ 1. ส่งเสริมให้ประชาชน งดการเผาในที่โล่งทุกกรณี ร่วมรณรงค์งดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์หมอกควัน PM2.5 รุนแรง พร้อมส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปแปรรูปใช้ประโยชน์ หรือเพิ่มมูลค่าแทนการเผา
2. ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ มาตรการข้อกฎหมาย แนวทางปฏิบัติตน ข้อมูลด้านสุขภาพ และผลการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และ PM 2.5 , 3. ท้องถิ่นจังหวัด ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวัง สนับสนุนการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ตลอดจนควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด โดยรณรงค์สร้างการรับรู้ และดำเนินการตามกฎหมาย 4. ปกครองจังหวัด , อำเภอ , อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนธรรมนูญหมู่บ้าน เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 ให้เกิดเป็นรูปธรรม และบังคับใช้โดยเคร่งครัด ,
5.ให้เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด โรงงานน้ำตาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ/แนวทางหรือสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรงดการเผา , 6. ให้ อบจ.อุดรธานี สนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 , 7. ให้อุตสาหกรรมจังหวัด ควบคุม กำกับ ติดตาม โรงงานอุตสาหกรรมปฏิบัติตามกฎมาย , 8.ให้ขนส่งจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด เข้มงวดตรวจจับรถควันดำเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
9.ให้แขวงทางหลวง 1-2 แขวงทางหลวงชนบท โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และ อปท. ควบคุมการเผาในพื้นที่ริมทาง และเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายวัสดุตกหล่น รั่วไหล ปลิว กระจายลงบนถนน รวมถึงรณรงค์และสร้างแรงจูงใจ , 10.ให้มรภ.อุดรธานี ศึกษาวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง , 11.ให้สมัชชาสุขภาพจังหวัด สนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบบูรณาการความร่วมมือ และ 12. ให้ทุกส่วนรายงานความก้าวหน้า และผลการดำเนินงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี โดยมอบหมายให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นผู้รวบรวม
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมพิจารณามาตรการของแต่ละหน่วยงาน และพิจารณาออกประกาศ ห้ามเผาในที่โล่งในทุกกรณี อาทิ ไร่อ้อย-ตอซังข้าว-ขยะ-วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ที่เคยประกาศใช้ไปแล้วในปี 2566 มีผลระหว่าง 15 มี.ค.2566-15 พ.ค.2566 ในครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.2566-15 พ.ค.2567 โดยกำชับให้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้แก่ประชาชน ก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ส่วนของโรงงานน้ำตาล และองค์กรชาวไร่อ้อย ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงให้ความเห็นว่า โรงงานน้ำตาลมีความต้องการ “อ้อยสด” ที่จะทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี แต่ก็ปฏิเสธการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ไม่ได้ ยังคงต้องรับซื้อโดยให้เงินเพิ่มอ้อยสดตันละ 50 บาท แลหักอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท เพื่อให้องค์กรไม่ใช้โรงงาน รวมทั้งการพัฒนาการปลูกอ้อย และเพื่อเครื่องจักรเก็บเกี่ยว ทำให้อ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานลดลงจาก 50 % ลดลงเหลือ 30 % เชื่อว่าปีนี้จะดีขึ้น แต่ก็ติดปัญหาเรื่องเงินตัดอ้อยสดของรัฐบาลตันละ 120 บาท ชาวไร่อ้อยยังไม่ได้รับ แม้จะทวงถามไปหลายครั้ง ….