วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมยกโมเดลอุดรรับมือแรงงานกลับบ้าน

ยกโมเดลอุดรรับมือแรงงานกลับบ้าน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนายธีรชัย แสนแก้ว , นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร รอง ปธ.กมธ. และ คณะกมธ.ฯ เดินทางมาติดตามการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง ผวจ.อุดรธานี และประธานศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบที่ประเทศอิสราเอล จ.อุดรธานี นำหน่วยที่เกี่ยวข้องชี้แจง

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ผวจ.อุดรธานีมีคำสั่งให้ตั้งศูนย์ประสานงานระดับจังหวัด และอำเภอ มอบให้ตนเป็นประธานฯ นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัด เป็นเลขาฯ นำฝ่ายปกครองบูรณาการกับ 5 เสือกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่น เพราะมีแรงงานชาวอุดรธานี ไปทำงานถูกกฎหมาย 4,042 คน มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่านั้น โดยได้ร่วมออกแบบการสำรวจ รวบรวมข้อมูลจากแรงงานทุกคน สร้างขวัญกำลังใจ ป้องกันความสบสน และเตรียมให้การช่วยเหลือด้านอาชีพด้วย

นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดฯ รายงานว่า ศูนย์ประสานงาน 20 อำเภอ จะรับข้อมูลชื่อ-สกุล-ที่อยู่ แรงงานในพื้นที่ ทีมงานลงพบครอบครัวแรงงาน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของแรงงาน ตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง การเสียชีวิต บาดเจ็บ ถูกกักตัว แรงงานเดินทางกลับ และศพแรงงานถูกส่งกลับ ตลอดจนการทำพิธีทางศาสนา ผวจ.อุดรธานี เดินทางไปเป็นประธานพิธีทุกราย ตลอดจนการแจ้งสิทธิคนงานแต่ละคน

“ ข้อมูลถึงวันนี้ มีแรงงานชาวอุดรฯเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 4 ราย เดินทางกลับมาแล้ว 1,037 คน ยังไม่เดินทางกลับ 3,005 ราย แยกเป็นถูกควบคุมตัว 4 ราย สูญหาย 3 ราย สงสัยตรวจ DNA 11 ราย จากการสอบถามญาติ และแรงงานในอิสราเอล ผ่านระบบสื่อสาร มีแรงงานยังต้องการกลับอีก 258 ราย ต้องการอยู่ต่อ 1,208 ราย และอยู่ระหว่างตัดสินใจ 1,520 ราย มีเหตุผลว่าอยู่ไกลจากพื้นที่สงคราม นายจ้างสร้างหลุมหลบภัย และเพิ่มค่าแรงให้ ”

นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดฯ กล่าวว่า มีแรงงานบาดเจ็บอยู่อิสราเอล 1 คน เดินทางกลับมา 3 คน ได้ให้เข้ารับการตรวจรักษาที่ รพ.ของรัฐ เพื่อให้แพทย์รับรองอาการ ใช้ขอรับชดเชยจากอิสราเอล ขณะแรงงานจำนวนมาก ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มอบหมายฝ่ายปกครอง ไปสอบสวนรับรองสถานะ ว่าทั้งสองอยู่กินฉันท์สามีภรรยาจริง เพราะเกรงว่าจะส่งผลกับค่าชดเชย-เยียวยาจากอิสราเอล ที่ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร

นายบรรจง อุนารัตน์ แรงงาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า มีแรงงานเดินทางกลับมา มาร้องขอการช่วยเหลือ 283 ราย มากที่สุดคือ การติดตามค่าจ้างค้างจ่าย และเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้มีเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น คือ การจ่ายซื้อตั๋วเครื่องบิน การจ่ายค่าแท็กซี่มาสนามบินในอิสราเอล สำหรับกรณีแรงงานเสียชีวิต ได้ไปอำนวยความสะดวกที่บ้าน ซึ่งล่าสุดอิสราเอลเพิ่มแบบฟอร์มใหม่ ให้เป็นแบบภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องแก้ไขต่อไป

ว่าที่ รท.อนุเทพ ศรีดาวเรือง จัดหางาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า มีแรงงานจากอิสราเอลเดินทางกลับ มาแสดงตัวขอรับเงินชดเชยกองทุน กรณีภัยสงครามคนละ 15,000 บาท 1,061 คน โดยเป็นแรงงานนอกพื้นที่ 90 คน กำลังทยอยพิจารณาจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร ในจำนวนนี้มีผู้ประสงค์กลับไปทำงาน 509 คน ไม่ประสงค์เดินทางกลับไป 552 คน ทั้งนี้แรงงานเหล่านี้เดินทางกลับจากรัฐส่งกลับ 834 คน เดินทางกลับเอง 227 คน

นางภัททิรา ครุฑกุล ประกันสังคม จ.อุดรธานี กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บ 4 ราย ไม่มีการประกันตนหรือไม่ต่อประกันตน มีอยู่ 1 รายจะได้มีเงินชราภาพ เมื่ออายุ 55 ปี สามารถรับเงินชราภาพได้ ขณะผู้เสียชีวิต 9 ราย ได้รับสิทธิประกันตน 8 ราย ได้จ่ายประกันตนไปแล้ว 4 ราย เบี้ยชราภาพ 7 ราย ส่วนอีก 1 รายไม่ได้ประกันตน

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.เดินทางมาอุดรธานีเป็นจังหวัดแรก เพราะที่นี่มีแรงานไปอิสราเอลมาก เมื่อเดินทางลงดูพื้นที่ และรับฟังรายงานจากผู้รับผิดชอบ ตลอดจน ส.ส.ในพื้นที่ ก็เห็นว่าโมเดลของอุดรธานี ทำได้ดีและละเอียดหลายแง่มุม น่าจะเอาไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นด้วย คำถามตอนนี้ก็คือ “เราจะดำเนินการอะไรต่อ” เพราะนี่คือสถานการณ์พิเศษ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระเบียบวิธีการต่าง ๆไม่เคยมี

“ แรงงานไทยในอิสราเอล 29,090 คน ความจริงตัวเลขน่าจะมากกว่านี้ ตัวเลขรัฐจัดส่งไปเท่าไหร่ มีตัวเลขของเอกชนเท่าไหร่ และตัวเลขที่หมดสัญญาไม่กลับเท่าไหร่ สามารถตรวจเช็คจากพาสปอร์ตได้หรือไม่ , แรงงานที่บาดเจ็บต้องเกิน 19 เปอร์เซ็นต์ จึงจะได้รับเยียวจากอิสราเอล จะเอามาตรฐานตรงไหน , ค่าเดินทางมาสนามบินเพื่อกลับไทย มันเกิดขึ้นจริงแต่จะชดเชยอย่างไร , รวมไปถึงค่าจ้างค้างจ่ายที่แรงงานถามมามาก ระเบียบกฎหมายเรามีช่องทางหรือไม่ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราต้องไม่ใช่คู่ขัดเย้งของสองฝ่าย เรื่องเหล่านี้ต้องหารือกันอีกเยอะมาก ”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments