ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 แม้ฝนไม่ได้ตกในพื้นที่ติดต่อมา 2 วัน แต่ระดับน้ำในลำน้ำห้วยหลวง ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง วัดได้ที่ประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง ในตอนเช้าระดับอยู่เหนือตอม่อ 50 ซม. ในตอนบ่ายลดลงมา 2 ซม. ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้น้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ ม.11 และพื้นที่มาใกล้เคียง ต.สามพร้าว ติดต่อกันมาเป็นเวลา 16 วันแล้ว ขณะน้ำล้นตลิ่งได้ขยายวงกว้าไปในพื้นที่ ต.เชียงพิณ ต.เชียงยืน ต.นากว้าง ต.หมูม่น อ.เมือง อุดรธานี
นายอภิชาต ชุมนุมวาปี ผอ.ชลประทานอุดรธานี เปิดเผยว่า น้ำในลำห้วยหลวงมีสภาพล้นตลิ่ง ในระดับสูงทรงตัวมานาน จากฝนตกสะสมในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีน้ำไหลจากต้นน้ำ เลือกสวนไร่นา ลงสู่ลำห้วยหลวงต่อเนื่อง หากฝนไม่ตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำน่าจะลดลงตามลำดับ โดยขณะนี้ได้ปิดประตูระบายน้ำ บ.หัวขัว ต.เมืองเพีย อ.กุดจับ และปิดประตูระบายน้ำอ่างฯบ้านจั่น 2 บาน เหลือเพียงการล้นสันฝายวันละ 0.328 ล้าน ลบม. เพื่อไม่ให้มาเติมน้ำในลำห้วยหลวง
“ ฝนที่ตกลงมาทำให้อ่างฯ 19 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ดี โดยอ่างห้วยหลวง ปริมาณน้ำ 77.7 ล้าน ลบม. หรือ 57.33 เปอร์เซ็นต์ , อ่างฯหนองหาน ล้นเปิดประตูน้ำทุกบาน (10-15 ล้าน ลบม./วัน) มีปริมาณน้ำ 91.6 ล้าน ลบม. หรือ 89.8 เปอร์เซ็นต์ สำหรับอ่างฯอีก 17 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 98.4 ล้าน ลบม. หรือ 97 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนนี้มีน้ำต้องระบายออก คือ อ่างฯบ้านจั่น 0.328 ล้าน ลบม. , อ่างฯลำพันชาด 3.2 ล้าน ลบม. , อ่างฯลำพันชาดน้อย 0.3 ล้าน ลบม. และอ่างห้วยสามพาด 0.04 ล้าน ลบม. ”
นายอภิชาต ชุมนุมวาปี ผอ.ชลประทานอุดรธานี กล่าวด้วยว่า ระดับน้ำที่ล้นตลิ่งลำห้วยหลวง ใกล้เคียงกับอุทกภัยจากพายุเซินกา ปี 60 ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำกำลังลดลงช้าๆ จึงขอให้จังหวัดอุดรธานี ขอความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ทำการทำเครื่องหมาย และบันทึกระดับน้ำในลำห้วยสาขา ลำห้วยหลัก รวมถึงระดับน้ำที่ล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ถนน และบ้านเรือน เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ ในการศึกษาพัฒนาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนกลาง ที่ ครม.รับหลักการดำเนินงานในปี 64 ไปแล้ว
เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน เกิดพายุฝนตกลงในเขตเทศบาลนครอุดรธานี และใกล้เคียง ความรุนแรงในระดับ 3-4 ติดต่อกันราว 1 ชม. วัดปริมาณน้ำในได้ที่อุตุนิยมวิทยาอุดรธานี 16.1 มม. และในช่วงค่ำฝนตกลงมาอีกระดับ 2 โดยตกอย่างต่อเนื่อง ….