หมออุดรฯไม่ดรามาบูทเข็ม3 แอสตาเซเนกา 5,795 ไฟเซอร์ 6,480 เรียงลำดับเสี่ยงสูงก่อน เหลืออีก 2,120 เศษต้องรอรอบสอง
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม 2564 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.)อุดรธานี พ.ญ.พัชริดา กลิ่นพะยอม อายุรแพทย์ รพ.ศูนย์อุดรธานี ร่วมแถลงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่อุดรธานี ผ่านโปรแกรม “ซูม” ว่ายังตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 328 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากรุงเทพฯ และพื้นที่เสี่ยงสูง 326 ราย เป็นการติดเชื้อภายในจังหวัดเพียง 2 ราย ทำให้มียอดสะสม 6,237 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,692 ราย รักษาตัวอยู่ 2,539 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สะสม 42 ราย
นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์เป็นครั้งแรกที่ผู้ป่วยใหม่ 220 ราย มีจำนวนน้อยกว่าผู้ป่วยหายกลับบ้าน 286 ราย พอมาถึงวันอาทิตย์จำนวนผู้ป่วยใหม่ 328 ราย กลับมาสูงกว่าผู้ป่วยหายกลับบ้าน 223 ราย เพราะเป็นวันที่นำรถไปรับคนกลับบ้าน ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะนี้การติดเชื้อภายในจังหวัด ก็สามารถควบคุมได้ทุกเคส ทั้งเคสร้านพิซ่า, ครอบครัวที่กุมภวาปี และครอบครัวที่น้ำโสม ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม จะเหลือก็คลัสเตอร์ตลาดสามพร้าว ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 7 ราย รวมเป็น 63 ราย โดยกลุ่มเสี่ยงกักตัวไว้หมดแล้ว
“ อุดรธานีมีเป้าหมายฉีดวัคซีน ให้กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 246,960 คน และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรค 117,585 ราย ให้ได้ 50 % ภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะนี้มีผู้สูงอายุฉีดไปแล้วเพียง 13 % ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรคฉีดไปแล้ว 26.7 % โดยการฉีดวัคซีนไขว้เข็มแรกชิโนแวค และเข็มสองแอสตาเซเนกา ในเดือนนี้จะมีวัคซีนชิโนแวค 50,000 โดสต่อสัปดาห์ ขอให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนไว้ที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี หรือ รพ.ชุมชนประจำอำเภอ ซึ่งเมื่อวานฉีกเข็มแรกไปทั้งหมด 5,155 คน ”
นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี ตอบคำถามด้วยว่า อุดรฯมีเป้าหมายฉีดวัคซีนบุคลากรทางการแพทย์ 14,396 คน ได้ฉีดวัคซีนชิโนแวคเข็มแรก 15,463 คน (107.4%) ฉีดชิโนแวคเข็มสอง 13,870 คน (96.3 %) และก่อนหน้านี้ได้บูท “แอสตาเซเนกา” เข็มสามไปแล้ว 5,795 คน ที่เหลือขอรับการจัดสรรโดยเรียงลำดับความสำคัญ บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานอยู่ด่านหน้าที่เสี่ยงสูง มาจนถึงเสี่ยงต่ำ และได้รับการจัดสรรมา 6,480โดส ได้ทำการฉีดไปทั้งหมดแล้ว ที่เหลือราว 2,120 คนเศษ จะต้องรอรอบต่อไป
พ.ญ.พัชริดา กลิ่นพะยอม อายุรแพทย์ รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า วันนี้ รพ.ศูนย์อุดรธานีมีผู้ป่วยต้องให้ออกซิเจนสูงขึ้นเป็น 74 คน เป็นการใช้ท่อช่วยหายใจ 14 ราย จำนวนผู้ป่วยทรวงตัวในดับนี้ ให้เครื่องออกซิเจนแรงดันสูง 25 ราย ที่เหลือเป็นการให้ออกซิเจนแรงดันต่ำ สำหรับที่ศูนย์โอบอุ้ม มรภ.อุดรฯ (สามพร้าว) จะรับผู้ป่วยสีเขียวด้านทิศเหนือ และศูนย์มรกต นิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ จะรับผู้ป่วยสีเขียวด้านทิศใต้
สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 42 ผู้ป่วยรายที่ 2,008 เพศชาย อายุ 41 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไปสัมผัสเชื้อเมื่อเข้าไปในพื้นที่คนหมู่มาก 2 สัปดาห์ก่อนมารัการรักษา มีอาการ ไอ เจ็บคำ เสมหะสีขาวขุ่น มาตรวจตามนัดของแพทย์ แผนกดหู คอ จมูก จึงตรวจหาเชื้อพบ 21 ก.ค.64 มีอาการรุนแรงตั้งแต่แรกรับ แพทย์ให้ยา “ฟาวิฟิราเวีย” ทันที 8 ส.ค.64 ระหว่างการักามีอาการช็อค เนื่องการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ วันต่อมาหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต รวมเวลารักษา 19 วัน
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า สถานการณ์ของอุดรธานีถือว่าทรงตัว ผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่อุดรฯน้อยมาก ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เสี่ยง ทั้งที่เดินทางกลับมาเอง และอุดรธานีจัดรถไปรับกลับมา ตามความเห็นชอบของ คกก.โรคติดต่ออุดรธานี ทำมาตั้งแต่ 13 ก.ค.-8 ส.ค.64 รับคนกลับมา 1,238 คน เป็นผู้ยืนยันการติดเชื้อ 1,016 ราย ทั้งหมดถูกส่งเข้ารักษาใน รพ. ที่เหลือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ถูกนำเข้ารับการกักตัวที่ LQ ที่รัฐจัดให้ และครบตามเป้าหมายที่แจง คกก.โรคติดต่อไว้ พรุ่งนี้จะรายงานต่อ คกก.และขอความเห็นจะดำเนินการต่อหรือไม่
“ ก่อนที่จะดำเนินโครงการ ได้สอบถามถึงความพร้อม มีเตียงรองรับผู้ป่วยหรือไม่ มีพื้นที่รองรับการกักตัวอย่างไร ตลอดจนแผนการเดินทางแบบระบบปิด รถออกจากวิทยาลัยการปกครอง ธัญบุรี ปทุมธานี มีรถตำรวจนำ ฝ่ายปกครองประสานงาน สาธารณสุขคัดกรอง และรถของเอกชน แวะจอดพักที่กองทัพภาคที่ 2 จัดไว้เฉพาะ ลงรถที่ มทบ.24 มีรถพยาบาลมารับผู้ป่วย กลับไปรักษาใน รพ.ใกล้บ้าน และสถานที่กักตัวใกล้บ้าน ค่าใช้จ่ายเป็นเงินนอกงบประมาณ จากพระอาจารย์สุธรรม สุธรรมโม เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด มอบให้มาช่วยประชาชน ยังมี นายก อบจ.อุดรธานี และรถเอกชนมาสนับสนุนช่วงท้าย 2 วัน ”