เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี มีนายวันชัย จันทร์พร รอง ผวจ.อุดรธานี นำนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี นายสุทัศน์ แพรสุรินทร์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และหน่วยเกี่ยวข้องร่วมประชุม
ที่ประชุมรายงานว่า อุดรธานีไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว 217 วัน มีโรงพยาบาลเอกชน ที่ได้รับอนุญาตรับผู้ป่วยชาวต่างประเทศมารักษา 3 โรง ตามประกาศ ศบค.ข้อ 10 สะสม 206 ราย ปัจจุบันมี 33 ราย ตาม AHQ สะสม 23 ราย ปัจจุบัน 7 ราย ทุกรายจะต้องได้รับอนุญาต และทำตามเงื่อนไข ผู้ติดตามรวมไม่เกิน 3 คน , ไม่มีเชื้อโควิด-19 , กักตัว 14 วัน รักษาเสร็จต้องเดินทางกลับ ส่วน รพ.ศูนย์อุดรธานี มีศักยภาพในการกักตัวญาติ 14 ห้อง แต่ยังไม่มีการรับผู้ป่วย
อุดรธานีได้เตรียมสถานที่กักตัวคนไทย เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไว้ที่หอพักของ มรภ.อุดรธานี (สามพร้าว) 230 ห้อง เป็นลักษณะของการกักตัวปลายทาง ที่ยังไม่มีผู้ถูกส่งตัวมากัก จึงยังไม่มีการปรับปรุงสถานที่เพื่อรับการกักตัว ขณะที่แรงงานต่างด้าว ที่จะเดินทางมาทำงานที่ จ.อุดรธานี นโยบายขณะนี้ให้กักตัวอยู่ที่ “ต้นทางเมืองชายแดน”
ขณะที่นายสวาทฯ ประธานหอฯ และนายสุทัศน์ฯ สมาคมโรงแรมไทย ในนามคณะกรรมการฯภาคเอกชน เสนอว่า ประเด็นแรกนับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และมีการผ่อนปรนไปหลายเรื่อง ทำให้เศรษฐกิจอุดรธานีกลับมาราว 40 เปอร์เซ็นต์ และน่าจะได้รับการผ่อนปรนเพิ่ม ในกรณีของสถานบริการ ในการขยายเวลาเปิดเท่ากับในอนุญาต , ลดการเว้นระยะห่างเพื่อเพิ่มผู้เข้าใช้บริการ แต่ให้คงเข้มงวดการคัดกรอง “วัดอุณหภูมิ” การสวมหน้ากาก และการล้างมือ
ประเด็นที่สองเศรษฐกิจอุดรธานีได้ผูกติดกับ สปป.ลาว มากพอสมควร มีการเดินทางข้ามไปมาเพื่อค้าขาย ท่องเที่ยว รักษาพยาบาล และอื่นๆ ขณะนี้ สปป.ลาว ซึ่งมีมาตรการเข้มงวด เพื่อป้องกันการระบาด มีท่าที่จะเริ่มเปิดประเทศเข้าออก อาจจะเป็นช่วงหลังปีใหม่ อุดรธานีน่าจะต้องพร้อมรับ โดยเสนอการไปมาระหว่าง 2 เมือง หรือเมืองคู่ คือ อุดรธานีกับนครเวียงจันทน์ เพราะ สปป.ลาว มีความเสี่ยงน้อย และมีผลดีด้านเศรษฐกิจ
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี สรุปว่า ที่ประชุมเห็นด้วยที่เอกชนเสนอ ในประเด็นแรก เรื่องสถานประกอบการ จะให้หน่วยงานที่ดูแลพิจารณา น่าจะเริ่มต้นจากสถานประกอบการ ที่ได้รับอนุญาตตามประเภทต่างๆ ซึ่งมีความพร้อมในการคัดกรอง ส่วนประเด็นที่สอง ให้ภาคเอกชนเสนอรูปแบบ เงื่อนไขของการกำกับดูแล การเดินทางเชื่อมระหว่างเมืองกับเมือง การจะกักตัว หรือไม่กักตัว การเดินทางไป-กลับ หรือพักค้าง เพื่อนำกลับเข้ามาดุกันอีกรอบ ก่อนส่งให้ ศบค.ไปพิจารณาอีกครั้ง ….