วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมอีสานบนเปิดศูนย์สู้ไข้เลือดออกป่วย3เท่า

อีสานบนเปิดศูนย์สู้ไข้เลือดออกป่วย3เท่า

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคาร สนง.เขตสุขภาพที่ 8 จ.อุดรธานี นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 นพ.สมิต ประสันนาการ ผอ.สนง.เขตสุขภาพที่ 8 พญ.รพีพรรณ เดชพิชัย ผอ.สนง.ป้องกันควบคุมโรคที่ 8 อุดรธานี ร่วมเปิดศูนย์ปฏิบัติการณ์ตอบโต้ ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีไข้เลือดออกระบาด พร้อมประชุมโดยติดตั้งอุปกรณ์และจอภาพ สำหรับประชุมทางไกล 7 จังหวัด หลังจากมีผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี

นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 กรกฎาคม 2562 ทั้งประเทศพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 40,402 ราย เสียชีวิต 58 ราย ในเขตสุขภาพที่ 8 (อุดรธานี หนองคาย เลย สกลนคร นครพนม หนองบัวลำภู บึงกาฬ) พบผู้ป่วย 2,751 ราย เสียชีวิต 6 ราย (บึงกาฬ 3 ราย นครพนม หนองบัวลำภู เลย จังหวัดละ 1 ราย) ล่าสุดได้ประสานความร่วมมือกับท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สื่อสารความเสียงให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการป้องกันโรค

” ขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิก ไม่ให้จ่ายยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเส็ด (NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ในผู้ป่วยไข้เลือดออก เพราะอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกมากขึ้น และเพิ่มมาตรการให้โรงพยาบาลในสังกัด จัดตั้งมุมให้คำปรึกษาไข้เลือดออก เพื่อคัดกรอง ติดตาม ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้สำรวจวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการป้องกันควบคุมโรคแต่ละพื้นที่รองรับสถานการณ์ระบาด ฝากย้ำเตือนประชาชนว่าหากมีอาการไข้หวัด ปวดศีรษะ ตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว หากอาการยังไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ยังมีไข้สูง ซึม อ่อนเพลีย ปัสสาวะสีเข้ม ไข้ลดแต่อาการแย่กว่าเดิม เบื่ออาหาร ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน ”

นพ.สมิต ประสันนาการ ผอ.สนง.เขตสุขภาพที่ 8 เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับรายงานกางมุ้งเรียนหนังสือในพื้นที่ จ.สกลนคร แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีหากมีการป้องกันแบบนั้น ประชาชนควรป้องกันตัวเองและบุตรหลานจากยุงลาย การกางมุ้ง จุดยา ทายากันยุง ก็ป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมโรค กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเด็กอ้วนและสตรีมีครรภ์ ตัวอย่างคือที่ จ.บึงกาฬ ที่เสียชีวิต 3 ราย ก็เป็นเด็กที่มีภาวะอ้วน อายุระหว่าง 10 – 11 ปี ซึ่งป่วยแล้วแต่ไม่รีบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอย่างทันท่วงที

” นอกจากนี้ในพื้นที่ จ.สกลนครตอนนี้น่าเป็นห่วง เพราะเข้าช่วงครบรอบ 2 ปีในการระบาด มีตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้นกว่า 3 เท่าจากปีที่แล้ว ระบาดในเขต อ.บ้านม่วง อ.เจริญศิลป์ อ.คำตากล้า และเป็นรอยต่อกับ อ.บ้านดุง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ซึ่งพื้นที่นี้ก็พื้นที่ที่มีตัวเลขการระบาดสูงสุดของอุดรธานี แต่ก็ยังถือว่าต่ำอยู่ จัดเป็นพื้นที่ระบาดในลำดับที่ 5 ของเขตสุขภาพที่ 8 จาก 7 จังหวัด ซึ่งหลังเปิดศูนย์ปฏิบัติการณ์แล้ว จะได้เร่งดำเนินการป้องกันโรคพร้อมกันทุกเขต ”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในพื้นที่ จ.อุดรธานี มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 732 ราย รับการรักษากลับบ้านแล้ว 683 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาล 49 ราย ในอาการป่วยอาการปานกลาง ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยในรอบ 7 วันที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 95 ราย หรือ 13.7 คน/วัน อัตราลดลงจากสัปดาห์ก่อน 15.4 คน/วัน โดยอำเภอที่มีผู้ป่วยมากกว่า 50 คน /แสนประชากร 6 อำเภอ คือ อ.บ้านดุง , ศรีธาตุ , สร้างคอม , เพ็ญ , ทุ่งฝน และเมืองอุดรธานี

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments