วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมโรงยางเหม็นหมอยันมะเร็งจิ๊บๆไม่ต้องแตกตื่น

โรงยางเหม็นหมอยันมะเร็งจิ๊บๆไม่ต้องแตกตื่น

ผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมแก้โรงยางเหม็น ติดเบรกร่างมาตรฐานกลิ่น จะเข้ากรรมการควบคุมมลพิษ 8 กุมภานี้ หวั่นกระทบเกษตรกรติดกลุ่มถูกคุมเข้ม ขอจับเข่าคุยก่อน ให้ชาวสวนยาง ผู้ประกอบการ โรงงานยาง และชาวบ้านอยู่ร่วมกันได้ เชื่อโรงงานยางอุดรธานีต้นแบบ แก้โรงงานยางเหม็นทั่วประเทศ ขณะหมอพูดชัดที่บ้าน-โรงงานพบสารอาจจะก่อมะเร็ง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ร่วมประชุมติดตามการแก้ไขปัญหา โรงงานยางแท่งของ บ.ศรีตรัง แองโกร อินดัสทรี จก.(มหาชน)อุดรธานี และ บ.วงษ์บัณฑิต อุดรธานี จก. ส่งกลิ่นเหม็นชาวบ้านเดือดร้อนมากว่า 7 ปี โดยนายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.อุดรธานี นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง , นักวิชาการ , ตัวแทนโรงงาน และผู้เดือดร้อนเข้าร่วมประชุม

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ก่อนมารับตำแหน่ง ผวจ.ท่านเดิม ได้ทำไปหลายส่วนแล้ว เมื่อมาก็ได้ปรับปรุงคณะทำงาน เป็นคณะทำงานต้นน้ำจากสวนยาง , การขนส่ง , การผลิต และสุขภาพอนามัย โดยร่วมมือกับทุกส่วนราชการ โรงงาน และภาคประชาชน ติดตามแก้ไขบูรณาการต่อเนื่อง โดยมีผู้ตรวจพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ร่วมแก้ไขปัญหาด้วย ล่าสุดอยู่กำลังให้โรงงานยาง พิจารณาว่าจะไม่รับซื้อยางก้อนถ้วย ให้มาซื้อยางเครฟได้หรือไม่ ซึ่งเป็นต้นเหตุของกลิ่น พร้อมทำแผนรองรับ “น้ำเซรั่ม” จากยางก้อนถ้วย

พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับร้องเรียน ปัญหากลิ่นเหม็นของโรงงานแท่ง 2 แห่ง ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี จึงส่งเจ้าหน้าที่มาดูข้อเท็จจริง ว่าจะสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คือ การเสนอปรับปรุงกฎหมายและข้อบังคับนำไปสู่การแก้ไข และขจัดปัญหาความเดือดร้อนเพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้มาเพื่อจับผิดใคร มาเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาประชาชน และการแก้ปัญหาที่อุดรธานี จะเป็นต้นแบบแก้ไขโรงงานยางทั่วประเทศ และให้แต่ละหน่วยชี้แจง

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาฯ สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า โรงงานยางแท่งทั้ง 2 โรง มีขนาดใหญ่กำลังผลิตสูงมาก และมีชุมชนอยู่โดยรอบ ทำให้กลิ่นที่เกิดจากกองวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และน้ำเสีย จังหวัดตั้งคณะทำงานย่อยมาแก้ไข แต่ชาวบ้านยังเดือดร้อน และพบว่าการใช้น้ำกรดหยดยาง ให้น้ำยางแข็งตัวยังมีปัญหา บางตัวเป็นสารสังเคราะห์อันตราย ยังไม่มีการควบคุม เกิดการปลอมแปลงมาขาย กลิ่นไม่ได้มีกฎหมายควบคุม และอาจจะมีสารอื่นเจือปน อีกทั้งมี 2 หน่วยงานดูแล จึงไม่เกิดผลในการปฏิบัติ โดยขณะนี้กำลังยกร่างของกรมควบคุมมลพิษ

ตัวแทนคณะทำงานด้านสุขภาพ รายงานว่า ดำเนินการใน 4 ส่วน คือ ค้นหาสิ่งที่คุกคาม , วิเคราะห์สารเคมีออกจากโรงงาน , ตรวจสุขภาพทางกายภาพและจิตใจ และเฝ้าระวังรักษาระยะยาว โดยการตรวจสุขภาพในรอบปี พบประชาชนมีอาการระคายเคือง ระบบทางเดินหายใจ , ตา , คอ , จมูก และแน่นหน้าอก แต่ผลการตรวจไม่ชัดเจน ทั้งนี้การตรวจสารเคมีที่บ้าน พบ“อะโคลีน” สารอาจจะก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน และในโรงงานพบสาร 26 ชนิด บางชนิดเป็นสารอาจจะหรือน่าจะ “ก่อมะเร็ง” ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัส แต่ก็ไม่อยากให้กังวน ควรเฝ้าระวังสุขภาพต่อเนื่อง และจากการตรวจกลิ่นของ สนง.อนามัยและสิ่งแวดล้อม เมื่อ 7-8 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าเกินมาตรฐาน

ผศ.ดร.ธีรธวัช สิงหศิริ รองคณะบดีวิทยาศาสตร์ (สิ่งแวดล้อม) มรภ.อุดรธานี กล่าวว่า แม้ทุกฝ่ายไม่ได้นิ่งนอนใจแก้ปัญหา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ น่าจะเกิดจากองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ ความรู้ความเข้าใจกลิ่นยังไม่เพียงพอ และการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เพียงพอเพราะไม่ทันสมัย ที่ผ่านมาเราใช้การขอความร่วมมือ และมีกฎหมายเพียง พรบ.สาธารณะสุข และ พรบ.โรงงาน น่าจะต้องสร้างกติกาเพิ่ม โดยเฉพาะการกำหนดมาตรฐานกลิ่น โรงงานจะได้มีกรอบการนำเทคโนโลยีมาใช้

น.ส.กาญจนา สวยสม ผอ.ส่วนมลพิษจากอุตสาหกรรม กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า 2 โรงงานที่อุดรธานีจะทำให้เกิด มาตรฐานโรงงานยางทั่วประเทศ โดยกรมฯเข้ามาที่นี้ตั้งแต่ปี 58 ขณะนี้ได้ยกร่างมาตรฐานกลิ่นโรงยาง จากการศึกษาข้อมูลโรงยางทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ ทั้งโรงงานเล็ก-กลาง-ใหญ่ เป็นกลิ่นในโรงงานไม่เกิน 2,000 หน่วย ริมรั้วไม่เกิน 30 หน่วย (มาตรฐานกลิ่น 23 โรงงานเดิม ในโรงงาน 300 หน่วย ริมรั้ว 30 หน่วย) จะนำเข้าพิจารณาคณะกรรมการควบคุมมลพิษ 8 กุมภาพันธุ์นี้ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แลประกาศเป็นกฎกระทรวง ถ้าไม่ติดขัดจะใช้เวลาอีก 6 เดือน

ทั้งนี้คณะผู้ตรวจการแผ่นดินในที่ประชุม แสดงความเป็นห่วงเรื่อง ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว “ค่ามาตรฐานโรงงานยาง” ที่จะเริ่มขึ้นมากจากเกษตรกร ขึ้นไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ ตัวเลขอาจะไม่ได้รับการยอมรับ จะต่อมีการพูดคุยในรายละเอียดก่อน รวมไปถึงค่ามาตรฐานจะนำมาบังคับใช้ กับโรงงานยางอยู่ติดๆกัน เหมือนกับกรณีของอุดรธานี จะต้องใช้ค่าสะสมของโรงงานหรือไม่ ส่วนปัญหาระยะสั้น น่าจะนำค่ามาตรฐานที่ร่างไว้ มาทดลองใช้กับโรงงานยางทั้ง 2 โรงที่อุดรธานีไปก่อน

จากนั้นพลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะ และนายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.อุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังโรงงานยางแท่งทั้ง 2 แห่ง เริ่มจาก
ของ บ.ศรีตรัง แองโกร อินดัสทรี จก.(มหาชน)อุดรธานี และ บ.วงษ์บัณฑิต อุดรธานี จก. ถ.นิตโย ต.หนองนาคำ โดยทั้งสองแห่งได้ชี้แจงการปรับปรุง เป็นไปตามแนวทางที่แนะนำ และการพัฒนาของโรงงาน อาทิ โกดังยางก้อนถ้วยแก้ไขเป็นระบบปิด , ลานกองยางเครฟใช้ผ้าใบคลุมแล้ว , ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย และพัฒนาระบบกำจัดกลิ่นจาก สเปรย์น้ำธรรมดา มาเป็นแบบ “ไบโอสครับเบอร์” และกดปลายปล่องลงไปในน้ำจุลินทรี โดยโรงงานไม่มีปล่องแล้ว

ขณะที่นางกิติชา ธานีเนียม หรือครูเตี้ย ตัวแทนชาวบ้านพร้อมคณะ ได้เข้าพบคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน และร่วมตรวจโรงงาน ได้ยืนบันทึกความเดือดร้อน พร้อมระบุว่า ชาวบ้านยังคงเดือดร้อนต่อเนื่อง กลิ่นเหม็นโรงงานยางเกิดทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ลมจะพัดจากโรงานเข้าหมู่บ้าน และตั้งแต่วันที่ 11 มกราคมเป็นต้นมา กลิ่นเหม็นรุนแรงระดับ 3 -4 ติดต่อกันทุกวัน แต่วันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินมา กลิ่นเหม็นกลับลดลงมาได้ ชาวบ้านที่ออกมาร้องเรียน ไม่ได้มาไล่หรือขอให้ปิดโรงงาน แต่มาขอให้แก้กลิ่นเหม็น

พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาระยะสั้นตอนนี้ เห็นว่าทั้ง 2 โรงงาน ควรจะต้องแก้ไขต้นเหตุของกลิ่น ว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ไขได้ และต้องมีการปลูกต้นไม้ที่สูงใหญ่ เพื่อจะดักและกักกลิ่นเอาไว้ไม่ให้แพร่กระจาย กำลังการผลิตที่วงศ์บัณฑิตถือว่าสูงเกือบ 600,000 ตันต่อปี ส่วนที่ศรีตรังอีกประมาณ 50,000 ตันต่อปี เป็นโรงงานที่มีกำลังผลิตมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทั้งนี้ผู้ร้องเรียนก็เข้าใจว่าโรงงานทั้ง 2 สร้างงานสร้างรายได้กับจังหวัด และเกษตรกรในภาคอีสานตอนบน แต่ทั้งนี้สิ่งเป็นเป็นความเดือดร้อนรำคาญ ทางจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ พยายามจะแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

“ ส่วนเรื่องประกาศมาตรฐานกลิ่นยังไม่ลงตัว เพราะหากประกาศไปแล้ว การบังคับใช้ต้องเกิดขึ้น เกษตรกรตามร่างประกาศ และโรงงานที่รับยางแท่งไปผลิตต่อ ต้องควบคุมเรื่องกลิ่นด้วยเช่นกัน การแก้ไขระยะยาวต้องมีข้อตกลงร่วมกันให้ดี ไม่ใช่ประกาศไปแล้วก่อให้เกิดความแตกแยก กลิ่นที่เรากำหนดทุกค่า หมายความถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ฉะนั้นทำอย่างไรจะทำให้เกิดความสมดุล เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากหลังจากนี้ชาวบ้านคงเดือดร้อนจากปัญหาเรื่องกลิ่นอยู่ ผมจะลงพื้นที่มาดูอีกครั้ง นอกจากทางโรงงานว่าดีแล้ว ต้องดูว่าชาวบ้านที่เดือดร้อนเขาเห็นว่าดีด้วยหรือเปล่า ถ้ายังไม่ดีก็ต้องกลับมาดูอีกที ”…….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments