ต้นสิงหาคมปี 2561 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น อยู่ในระดับใกล้ตลิ่ง ไล่มาตั้งแต่ลำน้ำเหือง จ.เลย ผ่านหนองคาย บึงกาฬ ไปจนถึงปากน้ำก่ำ จ.นครพนม ระดับน้ำที่สูงขึ้นได้ดันให้ “ลำน้ำสาขา” มีระดับสูงขึ้น หลายแห่งเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่ง ที่เห็นชัดเจนก็คือ ลุ่มน้ำเลย , ลุ่มน้ำสงคราม และลุ่มน้ำก่ำ ซึ่งต้องรอลุ้นปัจจัยปริมาณฝน และระดับน้ำในแม่น้ำโขง
ขณะพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง หรือพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งอีสานตอนบน รอดพ้นจากอุทกภัยในครั้งนี้ ทั้งที่เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย แม่น้ำโขงมีระดับสูงสุด 161.66 ม.ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ทรก.) ขณะลำน้ำห้วยหลวงมีระดับน้ำ 160.24 ม.รทก. หรือต่างกัน 1.42 เมตร ด้วยการปิดประตูระบายน้ำกันน้ำโขงไหลเข้า และติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว สูบน้ำจากลำห้วยหลวงไปลงลำน้ำโขง
ประตูระบายน้ำ (ปตร.)ปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย สร้างขึ้นตามแผนพัฒนา “โขง-ชี-มูล” โดยกรมส่งเสริมพัฒนาพลังงาน ต่อมาถูกโอนมาให้กรมชลประทาน หลังจากนั้นแผนงานเดิมถูกแก้ไข โดยมอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบบางส่วน ระหว่างเข้าคิวขอการตัดสินใจของรัฐบาล กรมชลประทานได้นำเครื่องสูบน้ำ มาติดตั้งชั่วคราว ทั้งในช่วงฤดูแล้งสูบน้ำจากแม่น้ำโขง เข้ามาเติมในลำห้วยหลวง และครั้งนี้นำเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว 10 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า 4 เครื่อง มาระดมสูบน้ำจากลำห้วยหลวงไปลงแม่นโขงวันละ 1 ล้าน ลบม.
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการ “พัฒนากลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง” ระยะเวลา 9 ปี (2561-2569) วงเงิน 21,000 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง , หนองหาน , เพ็ญ , บ้านดุง , สร้างคอม และพิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี รวมทั้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หลังจากเข้าคิวขอการตัดสินใจมาหลายปี และเปลี่ยนจากเงินกู้มาเป็นเงินงบประมาณแทน
ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง นับตั้งแต่ประตูน้ำบ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี ไปจนถึงประตูน้ำโพนพิสัย ระยะทางกว่า 147.4 กม. (ไม่รวมตอนบน 93.5 กม.) ครอบคลุม 6 อำเภอ จ.อุดรธานี 1 อำเภอ จ.หนองคาย พื้นที่การเกษตรกว่า 860,000 ไร่ ประสบปัญหาฤดูฝนน้ำโขงหนุน น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่นาข้าวทุกปี เกษตรกรต้องหันมาทำนาปรัง แต่พอถึงฤดูแล้งน้ำในลำห้วยมีปริมาณไม่มาก สถานสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าก็ใช้ได้ไม่เต็มที่
โครงการพัฒนากลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มีแผนปฏิบัติการหลายส่วน เริ่มจากแผนงานก่อสร้าง “สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง” ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย (361-3-36 ไร่) ด้วยการขุนคลองชักน้ำจากแม่น้ำโขง ลอดผ่านทางหลวงหมายเลข 212 (หนองคาย-โพนพิสัย) ความยาว 1,344 เมตร ไปเชื่อมกับลำน้ำห้วยหลวง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 150 ลบม.ต่อวินาที ทำหน้าที่สูบน้ำส่วนเกินในลำห้วยหลวง ที่เกินระดับควบคุม 160 ม.รทก.ระบายลงสู่แม่น้ำโขง
แผนงานการก่อสร้างประตูระบายน้ำบนลำห้วยหลวง 3 แห่ง ประกอบด้วย ประตูน้ำบ้านดงสระพัง , ประตูน้ำและสถานีสูบน้ำ หนองสองห้อง และประตูน้ำและสถานีสูบน้ำ บ้านดอนกลอย ในลำน้ำสาขา 12 แห่ง ประกอบด้วย ประตูน้ำห้วยปากโพง , ประตูน้ำหนองบุ่งแย้ , ประตูน้ำหนองผักใหม่ล่าง , ประตูน้ำหนองเบื่อ , ประตูน้ำหนองเพ็ญ , ประตูน้ำห้วยดินแดง , ประตูน้ำหนองสัปปะรด , ประตูน้ำห้วยเสือกวาง , ประตูน้ำกุดซวยล่าง , ประตูน้ำห้วยเสียวล่าง และประตูน้ำพาน
นอกจากนี้ยังจะต้องสร้าง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 18 สถานี , ระบบส่งน้ำชลประทาน , ระบบบริหารจัดการน้ำ 13 โครงข่าย รวมไปถึงการจัดหาที่ดินเดิม-ใหม่ การก่อสร้างพนังกั้นน้ำเดิม-ใหม่ โดยแผนงานบางส่วนยังต้องปรับแก้ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการประชาชน ทั้งที่การศึกษาความเป็นไปได้ มีกระบวนการการมีส่วนร่วมไปแล้ว ซึ่งก็ยังถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของแผนงาน
โครงการพัฒนากลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง อยู่ในการกำกับดูแลของ สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 (ปากน้ำก่ำ จ.นครพนม) กำลังจะเข้ามาพื้นที่ จุดสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง” ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เป็นสำนักงานหลักของโครงการ