ผู้สื่อข่าวรายงานมาวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรม เคพี.กุมภวาปี จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดการประชุม ปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี โดยว่าจ้าง บ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอน แมนเนจเมนต์ จก. เข้ามาดำเนินการวงเงิน 30 ล้านบาท มีหน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชาชนจาก อ.กุมภวาปี , อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ อ.กู่แก้ว เข้าประชุมรับฟังความคิดเห็น
นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ลุ่มน้ำหนองหานกุมภวาปีมีความสำคัญ ข้อมูลและวิชาการของกรมชลประทาน สามารถเข้าทำการพัฒนาได้ แต่ต้องมารับฟังชาวบ้านในพื้นที่ ที่มีข้อมูลและเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านจะต้องช่วยกันสะท้อนปัญหา ความต้องการ อาจจะไม่พึงพอใจทั้งหมด ต้องดูกลุ่มอื่นๆด้วย เพื่อตอบโจทย์ผลประโยชน์ส่วนรวม ตอนนี้เป็นโค้งสุดท้ายของการศึกษา ก็จะเป็นการเก็บตกสิ่งที่ขาดไป
“ อีสานเรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่น้ำท่วม-น้ำแล้ง-น้ำเสีย ขณะที่อุดรธานีมีฝนเฉลี่ยสูง แต่มีปัญหาเรื่องสภาพดินและการเก็บกักน้ำไว้น้อย สำหรับหนองหานกุมภวาปี ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำทั่วไป แต่เป็นแหล่งนำเอนกประสงค์ เป็นแหล่งน้ำดิบต้นทุนผลิตประปา-แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร-เพื่อการประมง-เพื่อท่องเที่ยว-เพื่อวิถีชีวิต ทำให้แต่ละกลุ่มมีความต้องการน้ำ ในระดับที่แตกต่างกันการบริหารจัดการน้ำให้ได้ประโยชน์ หรือสมประโยชน์กันทุกฝ่าย ”
โดยการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี ระบุว่า “หนองหานกุมภวาปี” คือจุดรวมน้ำของลำห้วย 8 สาย ถือเป็นต้นน้ำของลำน้ำปาว ไหลไปลงเขื่อนลำปาวที่ จ.กาฬสินธุ์ ปี 2539 กรมส่งเสริมพัฒนาพลังงาน สร้างโครงการนี้ขึ้นมาเรียกว่า “ฝายกุมภวาปี” ประกอบด้วย ประตูควบคุมน้ำขนาดใหญ่ , คันดินยาว 112 กม. , อาคารระบายน้ำ 58 แห่ง , สถานีสูบน้ำ 14 สถานี , คลองส่งน้ำดาดคอนกรีตยาว 111 กม. เป้าหมายพื้นที่ชลประทาน 48,000 ไร่ แต่ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มที่ 106 ล้าน ลบม. เพราะมีน้ำท่วมนอกคันดิน จึงเก็บกักน้ำไว้ได้เพียง 70-80 ล้าน ลบม. กรมชลประทานรับถ่ายโอนมาปี 2553 การบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ จึงปรับปรุงซ่อมแซมบางส่วนไปแล้ว
และกรมชลประทานได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาความเหมาะสม ตั้งแต่ 6 พ.ค.60 – 1 ส.ค. 61 สรุปข้อเสนอ ให้สร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำปากลำห้วย 8 แห่ง ได้แก่ ห้วยนาโน ห้วยไผ่จานใหญ่ หวยจระเข้ ห้วยโพนไพ ห้วยสา ห้วยสามพาด ห้วยน้ำฆ้อง และห้วยกองสี , สร้างสถานีสูบน้ำเพิ่ม 9 แห่ง , ปรับปรุงอาคารระบายน้ำ 33 แห่ง , ปรับปรุงคูระบายน้ำ 43 กม. และเปลี่ยนท่อส่งน้ำท่วมจากสถานีศูนย์กลางเดิมในคลองส่งน้ำ 13 กม. ในแผนปฏิบัติการณ์ 5 ปี วงเงิน 1,756 ล้านบาท โดยสามารถเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้งเพิ่มจาก 70-80 ล้าน ลบม. เป็น 106 ล้านลบม. ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่เกษตร 20,000 ไร่ และลดพื้นที่น้ำท่วม 21,000 ไร่
นายนภดล น้อยไพโรจน์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี ตอบข้อซักถามว่า โครงการจำเป็นต้องบริหารน้ำ เพื่อลดผลกระทบของชาวบ้าน หากระดับน้ำยกตัวสูงขึ้น น้ำในหนองหานกุมภวาปีจะดันน้ำในลำห้วย 8 สายยกตัวสูงขึ้น และไหลเข้าพื้นที่เลือกสวนไร่นา ขณะเดียวกันหากน้ำไม่สูงขึ้น ก็จะไม่เป็นผลดีกับทะเลบัวแดง จึงต้องเลี้ยงน้ำไว้ระดับเหมาะสมราว 80 ล้าน ลบม.แต่พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ต้องลดระดับน้ำลงที่ 75 ล้าน ลบม.เพื่อให้ชาวบ้านเก็บเกี่ยว ถ้าไม่มีน้ำไหลเข้าหลังเก็บเกี่ยว ก็จะเก็บน้ำได้เพียงเท่านั้น
“ ขณะที่อุปกรณ์ต่างๆมีอายุใช้งานมากกว่า 20 ปี มีสภาพชำรุดทรุดโทรม หลายส่วนใช้งานไม่ได้ โครงการได้ซ่อมแซม-ปรับปรุง ในส่วนของสถานีสูบน้ำ และเปลี่ยนแปลงตามที่ชาวบ้านเสนอ อาทิ ประตูระบายน้ำแบบหมุนด้วยมือ และการเปลี่ยนคลองส่งน้ำคางหมู เป็นคลองส่งน้ำตัวยู ที่จะเพิ่มเส้นทางขนพืชผลการเกษตร ส่วนเรื่องถนนมาตรฐานรอบหนองหานกุมภวาปี 70 กม.เศษ ก็ได้ดำเนินการตามวงเงินที่รับการสนับสนุน สำหรับแผนงานศึกษาล่าสุด หน้าที่สำคัญที่ต้องทำเพื่อรองบประมาณ คือการเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชน ”