ต้านโรงไฟฟ้าผสมผสานรุกหนัก รอยื่นหนังสือกับมือผู้ว่าฯคนเดียว ลั่นหากแก้ปัญหายังไม่พอใจ พร้อมเคลื่อนทัพบุกกรุงเทพฯ ส่วนผู้ว่าฯ“เว้าอีสาน” ย้ำติดตามดูแลทุกข์สุข ปชช. พร้อมนัดเช้า 26 ตุลาคมนี้ ร่วมประชุมคณะกรรมการนัดแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 หลังจากกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าผสมผสาน บ.ป่าก้าว ต.ผักตบ อ.หนองหาน นำโดยนายคำปลาย คำแพงราช อดีต ผอ.รร.บ้านผักตบ เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้อง ต่อนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี และพบจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มรักษ์หนองนาคำ ที่เดือดร้อนจากโรงงานยางแท่งยักษ์ 2 โรง ริมถนนนิตโย (อุดรธานี-สกลนคร) โดยมีนายณรงค์ จีนอ่ำ ปลัดจังหวัดอุดรธานี มาพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจชาวบ้าน เรื่องการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อรอการเดินทางมาของผู้ว่าราชการจังหวัด
เวลา 10.30 น. วันเดียวกันนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เดินทางมาพบกับชาวบ้าน ก่อนที่จะรับหนังเรียกร้อง นายคำปลายฯ แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า มีหนังสือมาถึงผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี 3 ฉบับ แต่ยังไม่เคยได้พบพูดคุยกับผู้ว่าด้วยตัวเอง มีรองผู้ว่าฯ และนายอำเภอ เป็นตัวแทนไปแก้ไขปัญหาให้ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องทำให้ชาวบ้านคิดว่า ทางราชการมองข้ามทุกข์สุขประชาชน เพราะกลุ่มทุนที่จะเข้ามาทำโครงการ ยังคงเดินหน้าแจกเอกสาร นัดหมายจัดทำประชาพิจารณ์ แทนที่จะทำความเข้าใจชาวบ้านก่อน
นายคำปลายฯ แกนนำกล่าวต่อว่า ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อน และปวดร้าวกับ โรงงานยางขนาดใหญ่ 2 โรง และโรงแปรรูปน้ำมันเครื่อง 1 โรง ส่งกลิ่นเหม็นทำลายอาการบริสุทธิ์ บั่นทอนสุขภาพเด็กๆ และผู้สูงอายุ โดยที่เราไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน ครั้งนี้จะเอาโรงไฟฟ้าขนาด 20 เม็กกะวัตต์มากอีก ซึ่งโรงไฟฟ้าลักษณะนี้มีการต่อต้านทั่วประเทศ วันนี้จึงมาพร้อมกับราบชื่อชาวบ้าน 6,270 คน ทวงถามเรื่องคณะกรรมการร่วม ที่วันนี้รับแจ้งว่าตั้งแล้ว และมาถามต่อว่ามีอำนาจหน้าที่แต่ไหน หากชาวบ้านได้คำตอบไม่พอใจ จะเดินทางไปเรียกร้องที่กรุงเทพ
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า แม้จะไม่ได้มีโอกาสไปพบชาวบ้าน แต่ก็ส่งรองผู้ว่าฯไปดูแล และติดตามความคืบหน้ามาตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์วันทำประชาพิจารณา และเวทีไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ก็เชิญผู้ประกอบการมาพูดคุย ก็มีความเห็นร่วมกันแล้วว่า จะชะลอการทำประชาพิจารณ์ไปก่อน จนกว่าจะทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทั้งก็เพื่อเพื่อดูแลทุกข์สุขประชาชน โดยจะต้องอยู่ในกรอบของระเบียบ และกฎหมาย
“ หลายเรื่องผู้ว่าฯก็ไม่มีอำนาจทั้งหมด อย่างกรณีการตั้งคณะกรรมการร่วม หน่วยงานราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้าน โดยไม่มีตัวแทนกลุ่มทุน จะมีการประชุมนัดแรกในช่วงเช้าวันที่ 26 ตุลาคมนี้ รายละเอียดว่าจำทำงานกันอย่างไร มีอำนาจหน้าที่มากเพียงไหน เราจะไปคุยกันในที่ประชุม ขอให้ชาวบ้านมั่นใจผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็นลูกอีสาน พูดจาภาษาอีสานเหมือนกัน เราจะมาทำงานร่วมกัน ผ่านตัวแทนของชาวบ้านในคณะกรรมการ ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี รับหนังสือ และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ด้วยภาษาถิ่น(อีสาน) ชาวบ้านพอใจแยกย้ายเดินทางกลับบ้าน ส่งท้ายด้วยเสียงปรบมือ ตะโกนโห่ร้อง