วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Google search engine
หน้าแรกท่องเที่ยว“ชัยวัฒน์” ทวงคืนป่าอุทยานนายูง-น้ำโสม 1.2 หมื่นไร่

“ชัยวัฒน์” ทวงคืนป่าอุทยานนายูง-น้ำโสม 1.2 หมื่นไร่

“ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” เดินหน้าทวงคืนผืนป่าอีสานตอนบน เริ่มที่อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม 623 แปลง 12,138 ไร่ ยึดภาพถ่ายดาวเทียมเข้าอยู่หลังปี 45 ไม่ถอยออกถูกดำเนินคดี ยอมถอยออกเข้ารื้อถอน-ตัดฟัน เตรียมฟื้นฟูคืนสภาพป่า ขีดเส้นตาย 20 กันยายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 อุดรธานี พร้อมกำลังจากอุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม , อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ , อุทยานแห่งชาติภูผายา , หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อด.6 , วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกคอยนาง , หน่วยป้องกันไฟป่าภูฝอยลม , หน่วยป้องกันรักษาป่าหนองบัวลำภู , หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยหลวง , โครงการพัฒนาลุ่มน้ำทอน , สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 และหน่วยพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ ร่วมปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม

โดยประชุมซักซ้อมความเข้าใจ ที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำทอน ต.คำด้วง อ.บ้านผือ ก่อนเดินทางไปที่ศาลากลางบ้าน บ.ลาดหอคำ ม.6 ต.คำด้วง พบปะชี้แจงประชาชน 17 ราย ที่เข้าไปทำกินล้ำแนวเขตป่าอนุรักษ์ 300 ไร่ ที่กันไว้ตามมติ ครม.30 มิ.ย.2541 ให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่าไปก่อน แต่ห้ามบุกรุกแผ้วถางเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนมือให้คนอื่น ถ้าผิดข้อตกลงจะถูกยึดพื้นที่คืน โดยจะยึดแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2545 ขอให้ผู้บุกรุกเกินแนวเขตถอยออก แต่หากยังไม่ถอยสามารถต่อสู้คดีพิสูจน์สิทธิได้ โดยจะร่วมกันออกไปชี้แนวเขต ส่วนที่ไม่ล้ำในเขตอนุรักษ์ สามารถทำกินได้ตามปกติ

ระหว่างที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 ชี้แจงทำความเข้าใจ โดยไม่มีผู้ใหญ่บ้าน , ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีเพียงสมาชิก อบต. มาร่วมรับฟัง ซึ่งชาวบ้านที่ทำกินล้ำแนวป่าอนุรักษ์ส่วนใหญ่ ที่จะถูกยึดพื้นที่คืนบางส่วนแสดงท่าทีเห็นด้วย เพราะจะได้มีแนวเขตชัดเจนของที่ดินที่ทำกิน และอนาคตอาจะมีเอกสารสิทธิได้ ขณะมีชาวบ้านที่จะถูกยึดพื้นที่ส่วนใหญ่คืน ยังคงแสดงท่าที่ไม่สบายใจ จนถึงไม่เห็นด้วย ยังไม่ยอมรับว่าเข้ามาทำกินหลัง พ.ศ.2545 บางรายให้เหตุผลว่า “จะไม่มีที่ทำกิน” ก็ได้รับคำชี้แจงว่า จะได้รับความช่วยเหลือหาที่ทำกิน หรือในฐานะผู้ยากไร้

จากนั้นนายชัยวัฒน์ฯ พร้อมคณะ เดินทางไปสวนยางพาราของนายบรรเจิด วงษ์สุวรรณ อายุ 41 ปี และนายไกรสอน บุตรแก้ว อายุ 50 ปี ราษฎรบ้านลาดหอคำ บริเวณต้นน้ำ “น้ำตกยูงทอง” ที่เคยใช้เป็นคำขวัญของอุดรธานีว่า “น้ำตกจากสันภูพาน” แต่เมื่อมีปัญหาต้นน้ำจึงถูกเปลี่ยนออก โดยสวนยางพารารุกพื้นที่ริมร่องห้วย ซึ่งเจ้าของสวนยินยอมเก็บอุปกรณ์การกรีดยางออก พร้อมลงมือใช้เครื่องเลื่อยยนต์ ตัดต้นยางพาราที่ล้ำด้วยตนเอง ถือเป็นแปลงแรกของหมู่บ้านพื้นที่ราว 2 ไร่ จาก 300 ไร่

นายบรรเจิด วงษ์สุวรรณ เจ้าของสวนยาง เปิดเผยว่า สวนยางเป็นมรดกของภรรยา ยอมรับว่าได้ปลูกยางพาราเพิ่มล้ำแนวเดิม และยอมที่จะตัดต้นยางออก 80 ต้น และถอยออกมาทำกินที่ดินเหลืออยู่อีก 700 ต้น และมีความหวังว่าที่ดินที่พ่อตาแม่ยาย ทำกินในป่าสงวนมาหลายสิบปี และตกทอดมาถึงครอบครัวตนเอง จะได้รับสิทธิถือครองตามกฎหมายในอนาคต

คณะนายชัยวัฒน์ฯ พร้อมหน่วยพญาเสือ เดินต่อไปยัง “หุบเขาภูหวด” กลางป่าอนุรักษ์ในเขต บ.นาหลวง ต.คำด้วง ซึ่งต้องเดินทางเข้าไปกว่า 5 กม. พบว่าพื้นบนยอดเขายังมีสภาพ “ป่าดิบแล้ง” สมบูรณ์ ต่ำลงมามีสภาพป่าถูกตัดสางเหลือเพียงป่าไผ่ ต่ำลงมาอีกก็เป็นสวนยาง ไร่มัน สวนปาล์ม และนาข้าว มีการปลูกสร้างบ้านชั่วคราว กระท่อมนา โดยไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของจึงทำการตรวจยึดพื้นที่ใหม่กว่า 300 ไร่ และพื้นที่เก่าที่ถูกดำเนินคดีแล้วอีก 113 ไร่ เข้าสู่กระบวนการตัดฟันและฟื้นฟูป่าทั้งหมด

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 อุดรธานี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้แก้กฎหมายป่าไม้หลายฉบับ สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ 10 จึงเตรียมความพร้อมพื้นที่รับผิดชอบ ด้วยการขีดแนวเขตครอบคลุม โดยยึดแนวตามแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2545 ด้วยเทคโนโลยีใหม่จึงมีความชัดเจนมาก ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า ที่ดินที่ตนเองทำกินอยู่ ก่อน พ.ศ.2545 มีการครอบครองทำกินหรือไม่ โดยเริ่มที่อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม ก่อนจะขยับไปในพื้นที่ในความรับผิดชอบอื่น

“ อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม พื้นที่ 245,521 ไร่ สำรวจพบบุกรุกเพิ่มหลัง พ.ศ.2545 จำนวน 623 แปลง พื้นที่ 12,138 ไร่ ดำเนินการขอคืนแล้ว 273 แปลง 5,852 ไร่ เป็นการดำเนินคดี 2,039 ไร่ เจรจาคืน 3,758 ไร่ ยังเหลือที่จะต้องดำเนินการเจรจา 341 แปลง รวม 6,180 ไร่ ส่วนนี้ถ้าไม่ยอมถอยออก จะถูกดำเนินคดีเพื่อพิสูจน์ ถ้าถอยออกก็จะไม่ดำเนินคดี ที่ดินที่เหลืออยู่ทำกินต่อ รัฐจะเข้ามาพื้นฟูคืนสภาพป่า โดยขั้นตอนจะให้แล้วเสร็จภายใน 20 กันยายนนี้ “

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 อุดรธานี กล่าวอีกว่า ส่วนแปลงที่ไม่มีใครมาแสดงตัว อย่างกรณีที่หุบเขาภูหวด มีความชัดเจนว่ามีการบุกรุกปลูกยางพารา มันสำปะหลัง จะเป็นกลุ่มนายทุนนอกพื้นที่ เข้ามาครอบครองพื้นที่นี้อยู่ ก็จะถูกดำเนินคดีหาผู้กระทำผิด ยึดพื้นที่ป่ากลับมาพื้นฟูสภาพ โดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลก็มีบ้าง จึงต้องขอให้หน่วยพญาเสือมาช่วย ส่วนแปลงปลูกปาล์มพบทำกินก่อน พ.ศ.2545 จะไม่ยึดคืน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments