“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” บ.ติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เคยมีคิวได้รับการพิจารณาเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” ตั้งแต่การประชุมใหญ่ ณ กรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี ตั้งแต่ 10-20 ก.ค.59 แต่ประเทศไทยตัดสินใจถอนเรื่อง ออกจากการพิจารณากะทันหัน ด้วยเกรงว่าหากการพิจารณาไม่ผ่าน ก็จะถูกตัดสิทธิไม่ได้เสนออีกเลย
ผ่านมา 4 ปีครึ่ง “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ถูกนำกลับมาถกอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่เป้าหมาย…..มรดกโลก
“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ประกาศขึ้นบัญชีทะเบียนโบราณสถานสำหรับชาติ ตั้งแต่ 8 มี.ค. 2478 ขณะนั้นใช้ชื่อว่า “พระพุทธบาทบัวบก” ช่วงระหว่าง พ.ศ.2516-17 สำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมามีการสำรวจแลพะศึกษาเพิ่มเติม จนกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเมื่อ 28 มี.ค.2524 ระบุเป็น “โบราณสถานพระพุทธบาทบัวบก” ก่อนเริ่มโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท พ.ศ.2532
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 กรมศิลปากรกราบทูลเชิญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน พื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทาง 67 กม. และถูกนำขึ้นบัญชีชั่วคราว รับการประเมินเป็นมรดกโลก 1 เม.ย.2547
เมื่อบ่ายวันที่ 21 มกราคม 2564 ที่ห้องประชุมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นายธีทัต พิมพา วัฒนธรรม จ.อุดรธานี นายมนตรี ธนภัทรพรชัย หน.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ร่วมประชุมทางไกลคณะทำงานขับเคลื่อน นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก จากห้องประชุมโบราณคดี ชั้น 5 กรมศิลปากร
ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้า ว่าการเสนอ“แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลก” ต้องจัดทำเอกสารกว่า 10 ปี ศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสาร การนำเสนอฉบับสมบูรณ์ 30 ม.ค.2558 , ผู้เชี่ยวชาญ ICOMOS ลงสำรวจภาคสนาม 17-24 ก.ย.2558 โดยขอข้อมูลเพิ่มเติมจากประเทศไทย , ส่งข้อมูลเพิ่มเติมตามคำขอ 2 พ.ย.2558 , ICOMOS ส่งรายงานการประเมินเบื้องต้น และฉบับสมบูรณ์ 11 มี.ค.59
ที่ประชุมในวันนั้นได้รายงาน การประเมินฉบับสมบูรณ์ของ ICOMOS มีความเห็นไว้รวม 7 ข้อ อาทิ ไม่มีการเปรียบเทียบกับแหล่งวัฒนธรรมอื่นในประเทศ และต่างประเทศ , คุณค่ายังไม่ชัดเจนโดดเด่นระดับสากล , ยังไม่ครบถ้วน-ขาดความสมบูรณ์ , ไม่เป็นของแท้และดังเดิม , ขาดงานทางวิชาการมายืนยัน ขาดข้อมูลผลกระทบที่จะตามมา และแนวทางในการปกป้องและคุ้มครอง ทำให้ประเทศไทยถอนการนำเสนอในการประชุม กรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่าง 10-20 ก.ค.59 เพื่อกลับมาจัดทำเอกสารใหม่
9 เม.ย.62 คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกขึ้น เพื่อติดตามการรวบรวมข้อมูล จัดทำเอกสารภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ โดยในวันนี้มีข้อสรุปว่า การจัดทำเอกสารเพื่อรับการประเมิน จะใช้เกณฑ์ความสำคัญเพียง 1 ประเด็นเท่านั้น และทำข้อมูลที่ลึกลงไปตามคำแนะนำ
นายมนตรี ธนภัทรพรชัย หน.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดเผยว่า หลังจากเราถอนการนำเสนอ เราได้กลับมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ได้ข้อมูลทางวิชาการ-โบราณคดี เพียงพอที่จะรวบรวมจัดเป็นเอกสาร โดยครั้งนี้จะนำเสนอประเด็นเดียว คือ “กลุ่มใบเสมา” ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเพิงผา มีความโดดเด่นกว่าแหล่งอื่น จากนี้จะมีทีมงานจากกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งจัดทำเอกสารภาษาไทย แล้วนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ให้ทันนำเสนอตามขั้นตอน เพื่อประชุมใหญ่ในปี 2566
นายธีทัต พิมพา วัฒนธรรม จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีความสำคัญน่าสนใจในหลายเรื่อง แต่การเสนอเป็นมรดกโลก แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม จะนำเสนอเพียง 1 ประเด็น ซึ่งส่วนกลางจะเข้ามาดำเนินการ ในส่วนของ สนง.วัฒนธรรม จ.อุดรธานี มีแผนจะกระตุ้นประชาชนในพื้นที่ หลังผ่านการเฝ้าระวังโควิด-19 จะมีการจัดกิจกรรม “สวดมนต์ปฏิบัติธรรมรอบหอนาอุษา” แม้ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ก็จะทำให้ได้
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จากหินทรายรูปร่างแปลกตา สวยงาม ที่เกิดขึ้นก่อนจากธรรมชาติ …. มาสู่ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งลายเลขาคณิต ไปจนถึงภาพสัตว์ต่าง ๆ ….. ต่อด้วยเพิงผาหิน-หินทรายแปลกตา ถูกนำมาใช้เป็นศาสนสถาน ลายล้อมด้วย “ใบเสมาหินทราย” ปักลงไปในแผ่นหินทรายขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดพิธีกรรม และกระจัดกระจายอยู่ทั่วภูพระบาท 3,430 ไร่ ในอดีตผู้คนใช้ที่นี่ประกอบพิธี และยังต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน…..