ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการณ์ จ.อุดรธานี ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี มีการรายงานเหตุนายกิตติภัฏ หรือ ฟีฟ่า เลิศอำนวยลาภ อายุ 22 ปี หนุ่มนักเรียนนอกก่อเหตุ ใช้อาวุธมีดฆ่าปาดคอนางอนงค์ เลิศอำนวยลาภ อายุ 66 ปี ย่าแท้ๆเสียชีวิตในห้องนอนที่บ้านพัก และได้ขี่รถจักรยานยนต์ พร้อมอาวุธมีดไล่แทงหมอนวดแผนโบราณ ใช้อาวุธปืน 11 มม.ของปู่ ยิงสาวผู้ช่วยพยาบาลภายในโรงพยาบาลวัฒนาบาดเจ็บ หลังจากเกิดเหตุลักษณะนี้มา 3 ครั้งแล้ว
ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ประกอบด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุกอำเภอ จากนั้นใช้กลไกโครงข่าย อสม. ที่มีอยู่ทุกพื้นที่หมู่บ้านในการค้นหาผู้ป่วยจิตเวช ทั้งจากยาเสพติด และความผิดปกติจากร่างกายของผู้ป่วยเองให้ครอบคลุมทั่วจังหวัดอุดรธานีซึ่งจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อจัดระดับความรุนแรงของผู้ป่วย และนำมาบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งให้มีการจัดอบรมฟื้นฟูดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี คาดว่ามีกว่า 250 คน อบรมรุ่นละ 50-60 คนเพื่อที่จะได้เฝ้าระวัง และรักษาอย่างจริงจังเข้มข้น โดยขณะนี้ทางจังหวัดกำลังหาพื้นที่ที่จะจัดอบรมให้กับผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดต่อไป
ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ผลิตอรัญ บุญมาตุ่น รอง ผกก.สอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี และ ร.ต.อ.ศักดา บุญก้อน รอง สว.สอบสวนฯ พร้อมด้วยตำรวจสายตรวจ191 ควบคุมตัวนายกิตติภัฏ หรือ ฟีฟ่า ออกจากห้องขังขึ้นรถควบคุม ส่งตัวไปตรวจสุขภาพจิตที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เพื่อทำเรื่องส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.จิตเวชเลย ราชนครินทร์ ต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย หลังจาก 2 วันที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ไม่สามารถสอบปากประกอบสำนวนคดีได้ และในขณะที่อยู่ในห้องควบคุม ตำรวจได้แยกขังเดี่ยว และจัดยาให้กินตามเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบอีก
พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า จังหวัดอุดรธานีได้หามาตรการเชิงรุก ป้องกันการก่อเหตุอาชญากรรมของผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงทุกประเภท โดยเริ่มจากพื้นที่ อ.เมือง เพื่อลดความหวาดระแวง และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยร่วมมือกับผู้นำชุมชน และ เจ้าหน้าที่ อสม. แนะนำให้ญาติผู้ป่วยตระหนักรู้ ถึงแนวทางปฏิบัติต่อญาติที่ป่วยจิตประสาท รวมทั้งกลุ่มที่ยังไม่มีประวัติการรักษา และผู้ป่วยที่ขาดยารักษาต่อเนื่อง และผู้ป่วยที่ยังเข้าไม่ถึงยารักษาจากจิตแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. จะเป็นผู้ประสานงานหลังจากผู้ป่วยเข้ารับการลงประวัติเข้ารักษาตัว แล้วจะดำเนินการนำยารักษาส่งถึงบ้านผู้ป่วยจิตประสาท เข้าถึงญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยว่าใคร ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีวินัยในการกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง
“ ทางตำรวจก็ได้เพียงแค่เสนอความคิดเห็น และสนับสนุนในการระงับเหตุ ตามยุทธวิธีปฎิบัติต่อผู้ป่วยจิตประสาท แต่หน่วยงานหลักก็คงเป็นของสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งทางตำรวจยินดีที่จะเป็นองประกอบในการปฏิบัติร่วมกับทางจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ในการออกสำรวจ ตามบ้านเรือนของผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย แต่สภาพชุมชนในตัวเมืองไม่เหมือนกับต่างอำเภอ และต้องใช้หลักการความระมัดระวังในการปฏิบัติประกอบกันไปด้วย”…….