เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ห้องประชุม พีโอซี. ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมนัดแรก ปรึกษาหารือแนวทางการดำเนินงาน พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ว่าด้วยมลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากความร่วมมือของ จ.อุดรธานี สนง.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะ นำร่องใน 6 จังหวัดคือ เชียงใหม่-สระบุรี-สงขลา-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี
มีนายจำรัส กังน้อย รอง ผวจ.อุดรธานี , นายวีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ , นายณรงค์ พลละเอียด อดีต ผวจ.ชุมพร ผู้ทรงคุณวุฒิ คกก.สมัชชาสุขภาพอุดรธานี นำหน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง , คกก.สมัชชาสุขภาพ จ.อุดรธานี , ภาคีเครือข่าย , ภาคประชาชน-ประชาสังคม และตัวแทนสื่อมวลชน ร่วมประชุมรับฟังแนวทาง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ว่าด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
การประชุมได้กล่าวถึงการเลือกอุดรธานี เป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่อง ตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เหมือนกับ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น ที่เมืองจะเติบโตมากในช่วง 5 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพอากาศ หากมีปัญหาก็จะส่งผลต่อการท่องเที่ยว ขณะที่ผ่านมาพื้นที่อุดรธานี ได้รับความสนใจจากการรายงาน คุณภาพอากาศของ “แอร์วิช่วน” (ผู้ประกอบการขายเครื่อง) และ “ดัชบอย” (งานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ระบุอุดรธานีมีปัญหาคุณภาพอากาศ ขณะเครื่องของภาครัฐใน จ.อุดรธานีไม่มี
ล่าสุด พ.ย.ที่ผ่านมา สนง.สวล.9 ได้จัดซื้อเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ เฉพาะ PM 2.5 มาตรวจคุณภาพอากาศที่ สนง.สวล.9 เพื่อรอการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กรมควบคุมมลพิษ ที่หนองประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งผลการตรวจวัดในรอง 1 เดือนที่ผ่านมา ค่า PM 2.5 ไม่กระทบต่อสุขภาพ ( 8- 44) ทั้งนี้จุดเดียวกันก็มีเครื่องของ “ดัชบอย” ติดตั้งอยู่ และจากการเปรียบเทียบพบว่า หากอากาศชื้นเครื่องดัชบอย จะมีค่าสูงกว่าเครื่องของ สวล.9 มาก
หน่วยงานที่ร่วมประชุม ได้รายงานระบุคุณภาพอากาศไม่ดี จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงฤดูหนาว ที่มีความกดอากาศต่ำ จากแหล่งกำเนินมลพิษ คือ การเผาไร่อ้อย-เผาตอซังข้าว-ไฟป่า-ไอเสียรถยนต์-ภาคอุตสาหกรรม-อื่นๆ แต่ละหน่วยงาน ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัย จ.อุดรธานี , ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี , สาธารณสุข จ.อุดรธานี , แขวงทางหลวงอุดรธานี , สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี , เกษตร จ.อุดรธานี และป้องกันไฟป่า ที่ระบุปัญหาอุปสรรค แนวทางการแก้ไข
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ตั้งใจมาเป็นประธานที่ประชุม เพราะเรื่อง PM 2.5 เป็นเรื่องสำคัญ ครั้งแรกก็ตั้งคำถามว่า ทำไมมาอุดรธานี มันแย่มากหรือเปล่า แต่เห็นเป้าหมายคือ “การสร้างเครื่องมือแก้ไขปัญหา แบบมีส่วนร่วม” เพราะที่ผ่านมาเรื่องแก้ไข เผาไร่อ้อย เผาตอซังข้าว ภาครัฐก็พยายามอธิบาย ออกมาตรการต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนยังมีปัญหา วิถีชีวิตชาวบ้านยังทำกันอยู่ ที่จะมาทำงานเพื่อหามาตรการร่วมกัน เป็นแนวทางเพิ่มเติมจะมาแก้ไขเรื่องนี้ (ฉีกแนวของทางราชการ)