กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และพัทยา เมืองแรกประเทศไทย ได้รับการประกาศเป็น “เมืองไมซ์” ตามสายตาของผู้รับผิดชอบ ก่อนที่จะกำหนดคุณสมบัติ อุดรธานีก็ถูกชักชวนให้เสนอตัว เป็นเมืองไมซ์มาหลายปีแล้ว แต่จะต้องรับการประเมินก่อน ขณะที่คุณสมบัติยังไม่ชัดเจน จนต้นปีก่อนหลักเกณฑ์คลอด ต่อมามี นครราชสีมา และหาดใหญ่ ผ่านการประเมิน ได้รับการประกาศรวมเป็น 7 เมือง
หลายคนคิดไปแล้วว่า อุดรธานีพลาด อุดรธานีหลุด อุดรธานีไม่ผ่านเกณฑ์ ….ที่จริงแล้ว อุดรธานีไม่ได้เสนอตัวรับการประเมิน
17 เมษายน 2563 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี (ขณะนั้น) ส่งหนังสือถึง สนง.ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ขอรับการประเมินภายใต้วิสัยทัศน์ “เมืองน่าอยู่ ศูนย์กลางการค้า-การลงทุน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ยืนยันความพร้อม เมื่อมีเสียงตอบรับจากทีเส็บ อุดรธานีกำหนดเป้าหมายก่อนสิ้นปีงบประมาณ
หลังจากเตรียมพร้อม มีขั้วเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ที่ห้องสมุดศาลากลางจังหวัด ชั้น 3 อาคาร 2 ถูกเลือกเป็นศูนย์ปฏิบัติการล่า “เมืองไมซ์” สำนักงานจังหวัด-หน่วยงานภาครัฐ-องค์กรเอกชน-ภาคเอกชน-นักวิชาการ (มรภ.อุดรธานี) ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ หลายวันต้องยาวเกือบสว่าง และกลับมาลุยงานต่อ เพื่อหาหลักฐานมาตอบคำถามเกณฑ์ที่มี 8 หลักเกณฑ์ 41 ตัวชี้วัด
จนมาการถึงวันประเมินก่อนรอบสุดท้าย 25 ก.ย.63 “ทีเส็บ” และคณะกรรมการบางส่วน เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ ความจริงตามเอกสารที่นำเสนอ คำติติงที่น่าตกใจ คำชื่นชม และกำลังใจ ท่ามกลางการประเมินตัวเองอุดรธานี 4.2 คะแนน ผ่านเป็นเมืองไมซ์ระดับประเทศ จากวันนั้นเราก็รอลุ้น ว่าในการประชุมคณะกรรมการฯ จะคิดต่างจากเราหรือไม่ ซึ่งวันนั้นจะมี จ.พิษณุโลก และ จ.นครศรีธรรมราช ด้วย
ล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 นายจิรุตถ์ อิศรางกูล ณ อยุธยา ผอ.สนง.ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ลงนามหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี แจ้งข่าวดีว่า อุดรธานีผ่านการประเมิน และเป็นไมซ์ซิตี้ มีผลมาตั้งแต่ 3 ธ.ค.63 พร้อมส่งคะแนนการประเมิน 8 หลักเกณฑ์ 41 ตัวชี้วัดว่า อุดรธานีได้คะแนนรวม 4.29 สูงกว่าที่เราประเมินตัวเอง มีขมวดท้ายด้วยว่ามีอายุ 5 ปี …..(ดีใจครับ…แต่ไม่จบ)
ดร.ศราวุธ ผิวแดง ภาควิชาการจัดการท่องเที่ยว วิทยาการจัดการ มรภ.อุดรธานี ให้ข้อมูลว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนมาช่วยกัน กว่า 4 เดือนทั้งกลางวัน-กลางคืน ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทุกคนตั้งใจและเข้มแข็งมาก จนอุดรฯเป็นเมืองไมซ์ระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีหลายด้านให้เรา ซึ่งเราจะต้องขับเคลื่อนต่อ ทั้งรักษาไมซ์ระดับประเทศ หรือก้าวไปเป็นไมซ์ระดับสากล
เมื่ออุดรธานีเป็นเมืองไมซ์ จะต้องขับเคลื่อน 4 ขั้นตอน คือ 1.ไมซ์ซิตี้ ดีเอ็นเอ. เราจะต้องเลือกว่า อัตลักษณ์ หรือจุดเด่น คืออะไร ธรรมชาติ-ธรรมะ-วัฒนธรรม-อื่นๆ อาจจะมีมากกว่า 1 ก็ได้ , 2. ไมซ์ซิตี้แบรนดิ้ง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเราคืออะไร จะติดตาเข้าใจได้ , 3. ไมซ์ซิตี้มาร์เก็ตติ้ง ด้านการตลาดเราจะต้องทำอะไร และ 4. ไมซ์ซิตี้แพ็คเก็ต เมื่อกิจกรรมมาแล้ว จะมีอะไรพิเศษบ้าง รวมทั้งทามไลน์กิจกรรมตลาดปี โดยทั้งหมดจะต้องมีทั้งภาครัฐ และเอกชน
จะต้องมีกิจกรรมเปิดตัว ให้คนทั้งโลกรู้ว่าอุดรธานีคือ “เมืองไมซ์” ในปี 64 อุดรธานีมีความพร้อมแค่ไหน จะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อเป็นตัวเลือกมาบริการ สิ่งต่างๆใน 4 ขั้นตอนเบื้องต้น จะต้องนำมาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชน ที่ส่วนตัวคิดว่าถ้าพร้อม “วันเกิดอุดรธานี 18 ม.ค.65” ขณะที่ปีนี้ทีเส็บเน้นไปที่ “ไมซ์เพื่อชุมชน” อุดรธานีก็ต้องเน้นในเรื่องนี้ ไม่ให้กระจุกอยู่แค่ในเมือง
“อุดรธานีเมืองไมซ์” มีการดำเนินการในหลายส่วน ส่วนสำคัญคือ ส่วนแรกจังหวัดอุดรธานี ที่ได้ร่วมทำ(ร่าง)ยุทธศาสตร์กันไปแล้ว , ส่วนที่สอง องค์กรเอกชน ภาคเอกชน จะมาช่วยกับเพิ่มศักยภาพของตังเอง เพื่อมีการขยับไปพร้อมๆกัน , ส่วนที่สาม สสปน. จะช่วยดูว่าเราขาดตกบกพร่องอะไร เขาสามารถเข้ามาช่วยอุดรธานีได้มากน้อยแค่ไหน และส่วนที่สี่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ การท่องเที่ยวและบริการ จะเป็นหน่วยที่ผลิตบุคลากร ระยะยาว เพิ่มทักษะวิชาชีพในระยังกลาง และสั้น ซึ่งเป้าหมายแรกคือ “พิธีกรงานอีเวนท์”
อุดรธานี…เรามาเดินหน้าไปพร้อมๆกัน