วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Google search engine
หน้าแรกท้องถิ่นผู้ว่าฯต้องสอบ“คำชะโนด”หลัง ชบ.ร้องไม่หยุด

ผู้ว่าฯต้องสอบ“คำชะโนด”หลัง ชบ.ร้องไม่หยุด

ผู้ว่าฯอุดรฯสั่งสอบ “วังนาคินทร์คำชะโนด” เปลี่ยนกรรมการ-เปลี่ยนคัดกรอง-แก้ผลประโยชน์ กำนันบ้านม่วง เลขาฯกก. รายยาวปัญหาร้องเรียนต่อเนื่อง นอภ.เคยจับไปสาบานปี 55 ก็ยังทะเลาะกันไม่หยุด จนต้องให้ นอภ.มาเป็นประธาน ตั้งกำนัน 3 ตำบล ผญบ.14 หมู่บ้าน มาร่วมชาวบ้านช่วยกัน ทำดีแค่ไหนก็ยังมีการร้องเรียน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุม อาคารเอนกประสงค์ วังนาคินทร์ตำชะโนด บ.โนนเมือง ต.บ้านม่วง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี นายธวัชชัย ศรีทอง รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานการประชุมการร้องเรียนของราษฎร บ.โนนเมือง ร้องเรียนต่อนายณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอบ้านดุง ให้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารคำชะโนด , เปลี่ยนแปลงวิธีคัดกรองเข้าสักการะ และตำรวจคุกคาม ชรบ.บ้านโนนเมือง โดยสื่อได้นำไปเสนอข่าว ชาวบ้านระบุมีผลประโยชน์จากการลัดคิวเข้าสักการะ แผงลอตเตอรี่ ลานจอดรถ และเงินบริจาค

ที่ประชุมมีณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอบ้านดุง ในฐานะประธานกรรมการบริหารคำชะโนด , พ.ต.อ.สมบัติ นาแถมพลอย ผกก.สภ.ดงเย็น อ.บ้านดุง รองประธานฯ , นายพงษ์ศักดิ์ ศรีชนะ กำนัน ต.บ้านม่วง เลขานุการฯ พร้อมคณะกรรมการบริหารคำชะโนด และส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงข้อร้องเรียน ข้อเท็จจริง และตอบข้อซักถาม โดยอนุญาตให้สื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังบันทึกภาพ และทำข่าวอย่างเปิดเผย

นายพงษ์ศักดิ์ ศรีชนะ กำนัน ต.บ้านม่วง เลขาฯ กล่าวว่า ก่อนที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน 14 หมู่บ้าน ต.บ้านม่วง มาดูแลคำชะโนดร่วมกันกับกรรมการฯ มีชาวบ้าน บ.โนนเมืองดูแลกันเองอยู่ก่อน แต่มีการร้องเรียนกันแทบทุกปี จนสมัยนายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ เป็นนายอำเภอบ้านดุงสมัยนั้น (2555) ต้องพาไปสาบานต่อเจ้าปู่ศรีสุทโธ ว่าจะทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักสามัคคีไม่ทะเลาะกัน จากนั้นก็มีการจัดระเบียบให้หลายฝ่ายเข้ามาร่วม แต่ช่วงที่ชาวบ้านบริหารก็มีการร้องเรียนกันอีก

“ อบต.บ้านม่วง มาดูแลได้ปีเดียว ชาวบ้านก็ร้องเรียนอีก อบต.ก็ถอย นายอำเภอฯก็มาเป็นประธานคณะกรรมการคำชะโนด มีกำนัน-ผญบ.ทั้ง 14 หมู่บ้านมาช่วยกัน ก็มีข้อร้องเรียนอีก ในที่สุดก็ให้กำนัน 3 ตำบล ต.บ้านม่วง ต.วังทอง ต.บ้านจันทน์ , ผญบ.14 หมู่บ้าน มาเป็นคณะกรรมการฯ ดูแลกันมาจนถึงขณะนี้ คนบ้านโนนเมืองจะไม่มีส่วนร่วม เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯด้วย ทั้งเจ้าหน้าที่ พนักงาน ร้านค้าที่อยู่คำชะโนด ก็เป็นคนบ้านโนนเมืองทั้งนั้น ไม่มีคนบ้านอื่นเลย ได้รับสิทธิ์มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ”

นางเพ็ญจิตร เชื้อคำจันทร์ กำนัน ต.วังทอง กล่าวว่า ชาวบ้าน บ.โนนเมือง ได้รับสิทธิ์มากกว่าคนใน 3 ตำบล และถ้าจะให้บางคนมาเป็นคณะกรรมการฯ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะบางท่านไม่ได้รับการอบรมมา มีปัญหาการพูดจากับนักท่องเที่ยวอีก ชาวบ้านมองว่าคณะกรรมการคำชะโนด ที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน มากินงบประมาณของคำชะโนด เราไม่ได้มากินงบประมาณ แต่เรามาทำงานให้เป็นระบบระเบียบ เขาคิดว่าคณะกรรมการฯที่เป็นอยู่ขณะนี้ มากินงบประมาณของคำชะโนด ซึ่งมันไม่ใช่

ส่วนในเรื่องการคุมคาม ชรบ.นั้น พ.ต.อ.สมบัติ นาแถมพลอย ผกก.สภ.ดงเย็น ชี้แจงว่า คำชะโนดแต่ก่อนได้รับคำชมเชยมาจากภายนอก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากพวกเราร้องเรียนกันเอง ในส่วนของตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ในด้านการจราจรและความปลอดภัย เรื่องผลประโยชน์อย่าให้มันเกิดขึ้น ส่วนเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปคุกคาม ชรบ.นั้นไม่เป็นความจริง มี ชรบ.บางท่านพูดจากับนักท่องเที่ยวหยาบคาย ทางตำรวจเราก็ตักเตือน แต่ไม่ใช่เป็นการคุมคาม

นายธวัชชัย ศรีทอง รอง ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ผวจ.อุดรธานี ทราบข่าวเกิดความไม่สบายใจ จึงสั่งให้ตนลงมาร่วมประชุม รับฟังปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น เบื้องต้นให้นายอำเภอฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามประเด็นที่มีการกล่าวหา และประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ตนได้เดินทางมาร่วมรับฟังปัญหา เช่น ผู้ร้องเรียนอยากให้เลิกระบบคัดกรอง ปรับเปลี่ยนหรือผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญที่เดินทางมาคำชะโนด เข้าไปสักการะเจ้าปู่และเจ้าย่าในเกาะคำชะโนดได้ทุกคน ซึ่งเรื่องนี้ในที่ประชุมยังคงยืนยันให้มีการคัดกรองเหมือนเดิม

“ ระบบที่เราทำไว้ช่วงมีการผ่อนปรนเรื่องโควิด-19 ให้เข้าสักการะเจ้าปู่และเจ้าย่า มีการจองเข้าผ่านทางคิวอาร์โค๊ด และเข้าสักการะคณะละไม่เกิน 50 คน ที่ระบบการจองคิวทางคิวอาร์โค๊ดยังใช้ได้ดี แต่เมื่อมีการเรียกรับเงินเพื่อลัดคิวเข้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ คณะกรรมการที่นายอำเภอตั้งขึ้น จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงว่ามีหรือไม่ แต่ความจริงการเข้าไปในเกาะ ทุกคนจะต้องผ่านจุดคัดกรอง ไม่ว่าจะเป็นการจองผ่านคิวอาร์โค๊ด หรือผู้ที่วอร์คอินที่ไม่ได้จอง มาลงทะเบียนหน้างานก็ให้เข้าทั้งหมด ”

รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นอื่น เช่น ที่มาของการนำไหว้ การขายของ จุดจอดรถ และเรื่องอื่น ๆ มีการประชุมเคลียกัน ทั้งเรื่องสิทธิชุมชนว่าชุมชนมีส่วนร่วมหรือไม่ ซึ่งกรรมการฯทุกคนยืนยันว่า ชุมชนทุกคนมีส่วนร่วมในการที่จะขายของ ขายหมากพลู ขายพานบายศรี ที่เราทำเป็นระบบอยู่แล้ว ยืนยันว่าสัปดาห์หน้าเราจะมีการปรับเปลี่ยนจุดคัดกรอง มาตั้งที่ศาลาโอทอปที่เป็นแนวทางเดินยาว จะสามารถมีที่นั่งรอมากขึ้น แถวยาวขึ้น คนที่มารอจะไม่ต้องนั่งในเต้นท์ซึ่งร้อน

“ เมื่อมาดูรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เป็นข่าว เพราะทุกเรื่องเรามีการพูดคุยกัน แต่อาจจะมีการสื่อสารผิดบ้าง จนทำให้คิดไปเองว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ ตนขอยืนยันว่าการเดินทางมากราบไหว้เจ้าปู่-เจ้าย่า ในเกาะคำชะโนด ทุกคนยังคงมาได้เหมือนเดิม แต่ขอความร่วมมือในการจองคิวผ่านระบบคิวอาร์โค๊ด ที่ต่อไปจะเพิ่มรอบและปริมาณคนเข้าไปสักการะให้มากขึ้น จากเดิม 5,000 คนต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ถึง 10,000 คนต่อวัน ”

นายธวัชชัยฯ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ไม่ได้จองคิวทางคิวอาร์โค๊ต ก็คงต้องรอคิวหลัง ๆ เพราะระบบที่วางไว้มันเป็นอย่างนั้น ซึ่งก็คงต้องช้าหน่อย ส่วนที่ว่าจะมีใครมาเรียกเก็บเงินเพื่อลัดคิวเข้า ขออย่าไปสนใจ อย่าไปทำตาม เพราะไม่มีการเรียกเก็บเงินเพื่อลัดคิวอยู่แล้ว ส่วนประเด็นอื่น ๆ ยังคงมีมาตรฐาน มีความอุ่นใจในการเข้าไปสักการะ ทุกฝ่ายร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง จะไม่มีการยกเลิกจุดคัดกรอง จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะหมดไปจากประเทศไทย

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments