ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อเย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2563 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง รับผู้บาดเจ็บเป็นชาย อายุ 24 ปี ราษฎรบ้านโนนทองหลาง ม.2 ต.บ้านตาด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เกิดจากการเล่น “ประทัดลูกบอล” มารักษาตัวในอาการ มือซ้ายได้รับบาดเจ็บหนัก แผลฉีกขาดรุนแรง นิ้วนางหลุด กระดูกแตก , นิ้วชี้ นิ้วกลางฉีกขาด , อุ้งมือและปลายนิ้วมีสีดำ หลังจากตรวจรักษาเบื้องต้น ถูกส่งตัวมา รพ.ศูนย์อุดรธานี
ชายผู้บาดเจ็บ ระบุว่า อยู่ในกลุ่มคนตกงานโควิด-19 เมื่อใกล้วันออกพรรษา (3 ต.ค.63) ที่จะมีการเล่นประทัด ดอกไม้ไฟ จึงไปเลือกซื้อที่ร้านตลาด ทม.บ้านดุง ติดร้านทองใกล้กับ 4 แยกไฟแดง โดยเลือกซื้อ “ประทัดลูกบอล” นำกลับมาเล่นที่บ้าน ด้วยการใช้วิธีจุดแล้วโยน แต่ลูกที่ทำให้บาดเจ็บ เกิดจากโยนไปแล้วไปถูกเสา ประทัดลูกบอลกระเด็นกลับมา จึงใช้มือซ้ายปัดป้อง แต่เกิดระเบิดขึ้นพอดี จนได้รับบาดเจ็บ ถูกส่งตัวมารักษาที่ รพ.
ขณะที่ก่อนหน้านี้วันเดียว นายณฐพล วิถี นายอำเภอเพ็ญ มอบหมายนายกนิษฐ์พงษ์ พันธ์ชมภู ปลัดงานป้องกัน ตรวจตราประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือร้านค้าที่ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟ ไม่ให้จำหน่ายประทัดชนิดลูกบอล , ปิงปอง และสามเหลี่ยม โดยที่ร้านชำที่บ้านคอนสวรรค์ ม.5 ต.เตาไห ได้จับกุมตรวจยึดประทัดลูกบอล 38 ถุง รวม 3,800 ลูก สอบสวนยอมรับซื้อมาจาก “ตลาดในเขต ทม.บ้านดุง”
สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี แจ้งว่า ได้เก็บสถิติผู้บาดเจ็บและพิการ จากประทัดดอกไม้ไฟ มาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อนำข้อมูลมาใช้แก้ปัญหา พบว่ามีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดในปี 2558 มีผู้บาดเจ็บ 158 ราย เสียชีวิต 2 ราย พิการนิ้วขาด 15 ราย จากนั้นมีสถิติลดลงแต่ยังทรง ล่าสุดปี 2562 บาดเจ็บ 55 ราย พิการมือขาด 1 ราย นิ้วขาด 3 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภาคอีสานนิยมเล่นประทัด-ดอกไม้ไฟ ในเทศกาลออกพรรษา มีผู้บาดเจ็บและพิการทุกปี โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน อุดรธานีเคยรณรงค์ทั้งงดการเล่น-ขาย ประทัดในกลุ่มมีความรุนแรง แต่ก็ทำให้สถิติลดลงเล็กน้อย จึงมีแนวทางการแก้ไข ด้วยการออกใบอนุญาตจำหน่าย ของฝ่ายปกครองจะกำหนดกติกาเพิ่ม ห้ามประทัดลูกบอล ปิงปอง และสามเหลี่ยม แม้ในเขตนครอุดรธานีจะไม่มีจำหน่าย แต่กลับมีจำหน่ายในอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน…