เริ่มศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำห้วยโมง เลย-หนองบัวลำภู-อุดรธานี-หนองคาย 18 เดือนได้แผนงานบูรณาการ บริหารจัดการน้ำยั่งยืน ยกกิจกรรมอาจเกิดขึ้น 10 แผน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ที่ศูนย์ประชุมมณฑาทิพย์ ทน.อุดรธานี นายธวัชชัย ศรีทอง รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดประชุมปฐมนิเทศโครงการ “ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง” มีนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นำหน่วยงานกรมชลประทาน ที่ปรึกษาโครงการฯร่วมชี้แจง และนายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี นำหน่วยงานราชการ และอปท.ในพื้นที่ร่วมรับฟัง โดยมีนางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี เข้าสังเกตการณ์
ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงว่า “ลุ่มน้ำห้วยโมง” มีพื้นที่รับน้ำฝน 2,718 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 19 ตำบล 12 อำเภอ 4 จังหวัด เลย-หนองบัวลำภู-อุดรธานี-หนองคาย ต้นน้ำเกิดที่ อ.นาด้วง จ.เลย , อ.นาวัง อ.นากลาง อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู และไหลลงสูงแม่น้ำโขงที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย มีฝนตกเฉลี่ย 1,379 มม.ต่อปี มีปริมาณน้ำท่า 986 ล้าน ลบม.ต่อปี ซึ่งบริเวณปากน้ำห้วยโมง มีประตูควบคุมน้ำและเครื่องสูบน้ำเข้า-ออก อัตรา 12 ลบม.ต่อวินาที แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้
บริษัทฯที่ปรึกษาจะเข้ามาศึกษา-ออกแบบ แก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ต้องหามาตรการบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น จะต้องจัดทำแผนแม่บทแต่ละจังหวัด นำมาวิเคราะห์ร่วมคัดเลือกแผนปฏิบัติการณ์ ซึ่งจากสภาพปัญหาพื้นที่ต้นน้ำมีความลาดชัน ทำให้น้ำไหลเร็วและแรง ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในฤดูฝน ขณะในฤดูแล้งน้ำกลับไม่เพียงพอ
ในการศึกษาจะใช้เวลา 18 เดือน เริ่มจากมิถุนายน 63 เริ่มจากขั้นตอนการศึกษาทำแผนหลัก ที่มีขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก 4 จังหวัดๆละ 1 ครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อมูล นำกลับไปวิเคราะห์ ก่อนนำกลับมาประชุมย่อยอีกหลายครั้ง เพื่อจัดลำดับความสำคัญ มาทำแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะต้องศึกษาความเหมาะสม 2 โครงการ ประกอบจัดทำ อีไอเอ.
“ลุ่มน้ำห้วยโมง” เป็นลำน้ำสายรองในภาคอีสาน มีลำน้ำสาขาจำนวนมาก อาทิ ห้วยพาน , ห้วยม้า , ห้วยปลาแดก , ห้วยม้า , ห้วยถ่อน , ห้วยไฮ , ห้วยโคกคอน , ห้วยแก้ง , ห้วยซีด , ห้วยเสือ , ห้วยกระโดง , ห้วยเชียงแค , ห้วยงาม , ห้วยส้มป่อย , ห้วยยาง , ห้วยน้ำบน , ห้วยหาน , ห้วยโค่โร่ , ห้วยไร่ , ห้วยยาบ , ห้วยโซ่ , ห้วยคะแนน , ห้วยปู่น้อย , ห้วยโข่ง , ห้วยฟ้า , ห้วยงาว , ห้วยนา และห้วยโมง
10 แผนงานที่อาจจะเกิดขึ้น คือ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชำรุด ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ , ขุดลอกลำน้ำ ปรับปรุงก่อสร้างสะพาน-ท่อลอด , สร้างอ่างเก็บน้ำพื้นที่ตอนบน , สร้างฝาย-อาคารบังคับน้ำขนาดเล็ก , สร้างอาคารบังคับน้ำขนาดเล็ก , พัฒนาพื้นที่แก้มลิง , ขุดคลองผันน้ำ , พัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วม , ส่งเสริมนาแปลงใหญ่ และเกษตรทฤษฎีใหม่
นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี กล่าวว่า เป็น ส.ส.อุดรธานี 7 สมัย ก่อนมาเป็นนายก อบจ.อุดรธานี เคยไปร่วมเวทีศึกษาลุ่มน้ำมามาก ล้วนเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ดีใจที่ลุ่มน้ำโมงบ้านเกิดตัวเอง เป็นลุ่มน้ำเล็กๆได้รับการศึกษา เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ห้วยโมงตอนบน , การผันน้ำไปเก็บไปในพื้นที่เหมาะสม โดยของเสนอ “อ่างบังพวน” และขอให้พิจารณาน้ำท่วมฝั่งขวาห้วยโมง การทำเขื่อนดินด้านขวาจะเหมาะสมหรือไม่
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโครงการประกอบด้วย 4 ด้าน คือ การศึกษาด้านวิศวกรรมในทุกด้าน ต้องชัดเจนสามารถทำได้จริงๆ , การศึกษาคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ในทางเศรษฐศาสตร์ , การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากไม่มีหนทางลดปัญหาก็ทำไม่ได้ และการออกมาคัดค้านของชาวบ้าน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ก็ไม่สามารถดำเนินการได้….