วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมกมธ.ลุ่มน้ำปลุกโขง-เลย-ชี-มูล

กมธ.ลุ่มน้ำปลุกโขง-เลย-ชี-มูล

กมธ.ลุ่มน้ำฯ เดินสายอีสานตอนบน คุยพ่อใจปลุกโครงการนำน้ำโขง เข้ามาทาง อ.เชียงคาน จ.เลย เติมเต็มภาคอีสาน ขณะอุดรฯขอพื้นที่ชลประทานเพิ่ม ปลดล็อค 11 ลุ่มน้ำย่อยอุดร เก็บน้ำได้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์

เวลา 13.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี นำคณะหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับนายศักดา กงเพชร ประธาน กมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎรพร้อมคณะ ในการเดินทางมาติดตามลุ่มน้ำโขง

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี กล่าวต้อนรับ อุดรธานีเป็นมากกว่าศูนย์กลางอีสานตอนบน นับตั้งแต่มีสะพานเกิดขึ้นและมากขึ้น ทำให้แม่น้ำโขงไม่ใช่กำแพงอีกต่อไป ปัจจุบันมีชาวลาวเดินทางมาอุดรธานี เพื่อจับจ่ายซื้อสินค้า ท่องเที่ยว พักผ่อนปีละ 2 ล้านคน อุดรธานีเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ยังมีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร ลำน้ำที่มีอยู่ 11 สาย ไหลทิ้งลงสู่แม่น้ำโขง และลำน้ำปาว โดยมีระบบชลประทานเก็บน้ำไว้ได้เพียง 4 เปอร์เซนต์

นายศักดา กงเพชร ประธาน กมธ.วิสามัญ กล่าวว่า ภาคอีสานเคยมีความหวังกับโครงการ โขง-ชี-มูล แต่ไม่ได้รับการสานต่อเลย เปรียบเหมือน“รถที่จอดทิ้งไว้”
แต่มาถึงขณะนี้ได้เปลี่ยนรถใหม่ เป็นรถรุ่นใหม่เกียร์ออโต้ การผันน้ำตามโครงการโขง-เลย-ชี-มูล ด้วยแรงโน้มถ่วง นำน้ำจากแม่น้ำโขง เข้ามาในอีสานผ่านแม่น้ำเลย ที่โครงการกำลังเริ่ม แล้วได้เสนอโครงการเจาะอุโมงค์ เอาน้ำมาเติมในเขื่อนอุบลรัตน์ , ส่งน้ำมาเติมที่อ่างฯห้วยหลวง ส่งต่อไปฝายกุมภวาปี และเขื่อนลำปาว วันนี้เห็นแสงลำไร พื้นที่ชลประทานจะเพิ่ม 35 ล้านไร่ โควิด-19 ได้เขย่าโลก การท่องเที่ยวจะลดลง การเกษตรจะเข้ามามีบทบาทแทน

ชลประทานอุดรธานี รายงานว่า ลำน้ำในอุดรธานีถ้าเริ่มจาก “ลำน้ำโสม” มีต้นน้ำในที่สูงลาดชัน เกิดการกัดเซาะสูง ไหลลง น.โขง ที่ จ.หนองคาย ยังไม่มีประตูควบคุมน้ำ , “ลำน้ำโมง” ต้นน้ำใน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ไหลผ่าน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ไหลลง น.โขง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย มีการสร้างประตูน้ำแล้ว อยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติม “ลำห้วยบังพวน” ลำห้วยอยู่ในพื้นที่ จ.หนองคาย แต่ต้นน้ำที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ “อ่างบังพวน” อยู่ใน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี “ลำห้วยสวย” เป็นแนวกั้นเขตแดน จ.อุดรธานี กับ จ.หนองคาย ไปไหลลง น.โขง ที่ จ.หนองคาย แผนการศึกษาจะมีในงบปี 64

“ลำห้วยหลวง” ต้นน้ำเกิดขึ้นใน อ.หนองวัวซอ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี และบางส่วนของ จ.หนองบัวลำภู มีอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เป็นอ่างฯขนาดกลาง ความจุ 135 ล้าน ลบม. ตั้งอยู่ในจุดอับฝนน้ำไม่เต็มมาหลายปีแล้ว ลำห้วยฯไหลผ่าน อ.กุดจับ อ.เมือง อ.พิบูลย์รักษ์ อ.บ้านดุง อ.เพ็ญ อ.สร้างคอม และไหลลง น.โขง ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีประตูควบคุมน้ำแล้ว และอยู่ในแผนพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง 60,000 ล้านบาท ผูกพัน 6 ปี และปี 63 ได้รับงบประมาณศึกษาพัฒนา “ห้วยหลวงตอนบน”

“ลำน้ำปาว” เกิดจากลำห้วย 11 สายไหลมารวมกันที่หนองหานกุมภวาปี มีโครงการฝายกุมภวาปี บริหารจัดการน้ำไหลลงสู่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธิ์ โดยไปสมทบกับ ลำน้ำพันชาด ไหลจาก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี มีอ่างฯลำพันชาด อยู่บริเวณต้นน้ำ ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม ขณะที่ “ลำน้ำสงคราม” เป็นลำน้ำกั้นเขตแดน จ.อุดรธานี และ จ.สกลนคร ไหลผ่าน จ.บึงกาฬ ไปลง น.โขง ที่ จ.นครพนม ยังไม่มีแผนพัฒนาลุ่มน้ำนี้

ตัวแทนจาก สนง.คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ชี้แจงแผนการศึกษาโครงการ “โขง-เลย-ชี-มูล” ว่า แนวคิดที่จะสร้างเขื่อนผามองเดิม จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง การศึกษาจึงเลือกบริเวณปากน้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ที่มีแก่งคุดคู้ เป็นเหมือนเขื่อนทางธรรมชาติ ยกให้น้ำบริเวณนั้นสูงขึ้น มีน้ำในระดับสูงเกือบตลอดปี แผนงานปรับปรุงลำน้ำเลยระยะ 1 กม. และสร้างบ่อดักตะกอนลึกลงไปอีก 5 เมตร เพื่อเจาะอุโมงค์น้ำขนาด 10 เมตร ในส่วนประตูควบคุมน้ำน่าจะเป็นโครงการ “ประตูน้ำศรีสองรัก”

อุโมงค์น้ำจะมาโผล่ที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ก่อนกระจายน้ำออกเป็น 2 เส้นทาง ทางแรก เป็นระยะที่ 1-4 ส่งน้ำไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะโรยน้ำตลอดเส้นทาง และโรยน้ำลงไปยังลุ่มน้ำชี ทางที่สองเป็นระยะที่ 5 ระยะสุดท้าย จะส่งน้ำมาที่อ่างห้วยหลวง จ.อุดรธานี เพื่อโรยน้ำต่อไปยัง “ฝายกุมภวาปี” และส่งไปยัง “เขื่อนลำปาว” ซึ่งในส่วนอุโมงค์น้ำ และโครงการระยะที่ 1-5 จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ และจัดทำ อีไอเอ.

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments