เชิญประชุมอีกรอบ “ร้านอาหาร” มากันเต็มห้อง รับฟังและมีข้อเสนอ ร่างมาตรการเตรียมความพร้อมขอคลายล็อค ยกเว้นร้านหมูกระทะ-บุฟเฟ่ต์-ชาบู แยกแนวปฏิบัติเจ้าของ-คนแจก-พ่อครัว-ลูกจ้าง-ลูกค้า-พนักงานส่ง
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 24 เมษายน 2563 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี นายสวาท ธีรรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเตรียมความพร้อมอีก 1 วัน สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อกำหนดมาตรการนำไปเตรียมตัว รอการประกาศคลายล็อค ให้ประชาชนบางกลุ่ม กลับมาประกอบอาชีพได้
มีผู้ประกอบการร้านอาหารมาประชุมกว่า 55 ราย (นั่งเว้นเก้าอี้) จากเมื่อวานไม่ได้เข้าร่วมประชุม ขอคลายล็อคคำสั่งให้ร้านอาหาร จำหน่ายเพื่อห่อกลับบ้านเท่านั้น ไม่อนุญาตนั่งรับประทานที่ร้าน ทำให้มีร้านอาหารบางประเภท ต้องตัดสินใจปิดให้บริการ ยังมีบางร้านจัดทีมส่งอาหารให้ลูกค้า หรือใช้บริการของ 2 กิจการบริการส่งอาหารแทน หลังจากวันแรกห้างสรรพสินค้า ห้างขายวัสดุก่อสร้าง ร้านเสริมสวย และร้านตัดผม เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมไปแล้ว
นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี ชี้แจงว่า สถานการณ์โควิด-19 อุดรธานี ดีขึ้นจากความร่วมมือประชาชน แต่ด้วยความเป็นห่วงว่าหากเราผ่อนคลายกติกา การระบาดจะกลับมาอีกครั้ง เหมือนประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ การคลายล็อคจึงจะค่อยๆปรับ จากผู้ประกอบการกลุ่มเสี่ยงน้อยก่อน จึงประชุมเตรียมความพร้อมตั้งแต่เมื่อวาน กับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ห้างค้าวัสดุก่อสร้าง ร้านเสริมสวย และร้านตัดผม วันนี้เป็นร้านอาหาร
“ อุดรธานีได้จัดทำร่างมาตรการ แต่ละสาขาอาชีพเป้าหมาย ที่ปรับมาจากร่างกรมอนามัย มาทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ลักษณะเตรียมความพร้อม ว่าสามารถปรับลด หรือเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ เพื่อนำเสนอมาตรการให้คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ในวันจันทร์ที่ 27 และพุธที่ 29 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาออกประกาศมาใช้อีกครั้ง ”
นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี กล่าวต่อว่า ร้านอาหารหมายถึงร้านอาหารทั่วไป ไม่รวมร้านอาหารมีการแสดง ร้านหมูกระทะ ร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ หรือร้านชาบูต่างๆ ซึ่งจะต้องชะลอไว้ก่อน โดยในส่วนร้านอาหารทั่วไป ก็แบ่งเป็น ผู้ประกอบการ-ผู้ขาย-ผู้บริจาคอาหาร , พนักงานที่เกี่ยวข้อง , ผู้ให้บริการส่งอาหาร-ผู้ขนส่ง และผู้บริโภค ซึ่งได้จัดทำเป็นร่างไว้แล้ว
รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า มาตรการเน้นไปที่สุขอนามัยพื้นฐาน เริ่มจากการคัดกรอง ทำประวัติพนักงาน , การสวมหน้ากาก ถุงมือ หมวก เน้นการล้างมือ เว้นระยะทางสังคม 1-2 เมตร , การทำความสะอาดห้องน้ำ จุดสัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 1 ชม. , ล้างทำความสะอาดวัสดุ และวัตถุดิบ , การเก็บรักษาอาหารปรุงสุก , การจัดที่นั่งกิน-นั่งรอ และการจัดการขยะและของเสีย
ขณะที่ผู้ประกอบการ มีข้อสอบถามและข้อเสนอว่า ร้านอาหารมีหลายรูปแบบ เมื่อจัดพื้นที่นั่งรับประทาน และที่นั่งรอแล้วใครจะรับรอบ , สวนอาหารที่มีซุ้มบริการ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยาก , ปรับระยะห่างทางสังคมลดลงได้หรือไม่ เพราะสถานการณ์อุดรธานีดีอยู่แล้ว , ต้องตรวจอุณหภูมิลูกค้าทุกคนหรือไม่ , จะสามารถเปิดบริการ ในกติกานี้ได้เมื่อไหร่ และต้องทำทะเบียนลูกค้าหรือไม่
นายสวาท ธีรรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า หอการค้าอุดรธานีได้ตั้งทีมมาติดตาม เพื่อให้การขับเคลื่อนธุรกิจขยับได้ แต่ก็ต้องดูว่ามีความปลอดภัยแค่ไหน ร้านอาหารก็มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีลักษณะและขนาดแต่งต่างกันด้วย เห็นด้วยที่จะเริ่มกลุ่มเสี่ยงน้อยก่อน จากนั้นขยับต่อไปเรื่อยๆ ให้ทุกคนตั้งใจทำตามมาตรการ เป็นหูเป็นตาช่วยกันรักษากติกา เมื่อเกิดปัญหาจะได้แก้ไขได้ง่าย เชื่อว่าการคลายล็อคจะมีต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เดิมอุดรธานีออกมาตรการ เปิดร้านอาหารและนั่งรับประทานที่ร้านได้ แต่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ก่อนมีคำสั่ง ห้ามจำหน่าย จ่ายแจก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์) และให้จัดโต๊ะเก้าอี้เว้นระยะทางสังคม 1-2 เมตร แต่ปรากฏว่ายังมีบางร้านไม่ปฏิบัติตาม และฝ่าฝืนมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปแนะนำ หรือจับกุม เกิดปัญหาการเผชิญหน้า อุดรธานีจึงมีคำสั่งซื้อกลับไปได้อย่างเดียว ….