ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ถึงความคืบหน้าการจับกุมนายณรงค์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง อายุ 52 ปี ชาว จ.หนองคาย ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน” กล่าวหาร่วมกับกลุ่มบุคคล ลงโฆษณาในเพจเฟสบุ๊คว่า สามารถจัดหาหนังสือรับรองของทางการลาว เพื่อนำมาประกอบการจดทะเบียนสมรสกับชายไทยได้ โดยคิดค่าจ้างรายละ 40,000-70,000 บาท จนมีผู้หลงเชื่อยอมเสียเงินให้ดำเนินการ แต่หนังสือรับรองดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม นายทะเบียนอำเภอเมืองอุดรธานี จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.เมืองอุดรธานี 3 คู่ อาจจะต้องถูกดำเนินคดี ทำและใช้เอกสารปลอม
พ.ต.อ.สรายุทธ ฉ่ำผิว ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี เปิดเผยว่า ฝ่ายทะเบียนที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี พบว่าเอกสารที่ใช้ประกอบการจดทะเบียนสมรส ระหว่างคนไทยและชาว สปป.ลาว เป็นเอกสารปลอม และพบว่ามีคู่สมรสที่ใช้เอกสารปลอม 3 คู่ ที่คู่สมรสฝ่ายชายเป็นคนไทย และฝายหญิงเป็นชาว สปป.ลาว และจากการตรวจสอบเอกสารรับรองที่ใช้ประกอบการขอจดทะเบียนสมรส ที่อ้างว่าส่งมาจากสถานกงสุล สปป.ลาว ประจำประเทศไทย ที่ทางกงสุลฯ ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นเอกสารปลอมที่จัดทำขึ้นมา ไม่ใช่เอกสารที่ทางกงสุลฯ หรือรัฐบาล สปป.ลาว ออกให้จริง จึงเป็นการนำเอกสารที่เป็นเท็จ มาใช้ในการจดทะเบียนสมรส
“ นายอำเภอเมืองอุดรธานี มอบหมายให้ปลัดอำเภอ นำพยานหลักฐาน เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี โดย พ.ต.ท.สิงหราช แก้วเกิดมี รอง ผกก.สอบสวน รับไว้สอบสวนดำเนินคดี เบื้องต้นทางอำเภอเมืองอุดรธานี ต้องการให้ดำเนินคดีกับคู่สมรสทั้ง 3 คู่ 6 คน แต่หลังจากสอบสวนทั้ง 6 คน ทั้งหมดบอกว่าไปเจอเพจในเฟสบุ๊ค ที่รับจ้างทำเอกสารกับทางกงสุล สปป.ลาว ประจำประเทศไทย และยืนยันว่าทำได้ถูกต้อง และมีค่าใช้จ่ายตามขั้นตอน ทำให้ทั้ง 6 คนหลงเชื่อว่า ที่เพจดังกล่าวรับทำเอกสารได้จริง ”
พ.ต.อ.สรายุทธฯ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจึงให้เป็นพยานไว้ก่อน ทางพนักงานสอบสวน จึงรวบรวมหลักฐาน ขอศาลอนุมัติหมายจับบุคคลในเพจที่ทำเอกสารให้ทั้ง 6 คน ชื่อนายณรงค์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง จ.หนองคาย ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง มีการประสานในวงกว้างในหลายท้องที่ ตม.จึงนำหมายศาลเข้าทำการจับกุม ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ อ้างว่าตัวเองก็ไม่รู้เป็นเอกสารปลอม เพราะติดต่อผ่านชิปปิ้งชาวลาวจัดทำให้ ซึ่งผู้ต้องหาได้ยืนหลักทรัพย์ประกันตัวไป
“ สามีภรรยาทั้ง 3 คู่ 6 คน ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน แต่ทั้งนี้ต้องดูที่เจตนา ว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นทำเอกสารปลอมหรือไม่ หากไม่รู้จริงหรือถูกหลอกลวง หรือคิดว่าเป็นเอกสารที่ทำมาอย่างถูกต้อง ที่ยังต้องสอบสวนพิสูจน์ทราบอีกครั้ง ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องขึ้นมา คาดว่าทางที่ว่าการอำเภอต่าง ๆ คงจะทำการตรวจสอบย้อนหลัง คู่สมรสชาวไทย-ชาวลาว ที่มาขอจดทะเบียนสมรส ว่าเอกสารที่นำมาประกอบ เป็นเอกสารที่ได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือมีการทำเป็นขบวนการหรือไม่ ”..