กรมโยธาธิการจ้างที่ปรึกษา วางผังการระบายน้ำลุ่มน้ำโขง ยอมรับลำน้ำ ลำห้วย ถูกบุกรุก-ตื้นเขิน การระบายน้ำเป็นคอขวด แนะใช้กฎหมายผังเมืองบังคับ ผู้ว่าฯชี้การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินลุ่มน้ำ-เมือง-ชุมชน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ขณะผู้ร่วมเวทีตัดพ้อ “ลำห้วย” อยู่ในความรับผิดชอบใคร พร้อมแนะอย่าลืมธนาคารพ่อแม่พันธุ์ปลาในลำน้ำโขง
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่ห้องประชุมชั้น 6 โรงแรมประจักษ์ตรา เทศบาลนครอุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นโครงการวางผังการระบายน้ำจังหวัดลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 1 (ระดับลุ่มน้ำ) กลุ่มที่ 2 จังหวัดอุดรธานี-เลย-หนองคาย-หนองบัวลำภู” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยว่าจ้าง บ.มหานคร คอลซัลแตนต์ จก.มาเป็นที่ปรึกษา มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2562
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า อุทกภัยขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำของไทย จะเกิดขึ้นทุกๆรอบ 15-20 ปี การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระดับลุ่มน้ำจังหวัด เมืองและชุมชน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่แก้มลิงแม่น้ำ และทางน้ำหลากธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องกระทำด้วยความรู้ และความเข้าใจในสภาพธรรมชาติ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในอนาคต การแก้ไขปัญหาระบายน้ำ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา แผนผัง เส้นทางน้ำ ที่จะให้น้ำอยู่ และที่จะให้น้ำไปอย่างไร
“ การศึกษาวางผังการระบายน้ำ จังหวัดต่างๆในลุ่มน้ำโขง เพื่อหาแนวทางป้องกันและบรรเทา อุทกภัยระดับจังหวัดอย่างเป็นระบบ ซึ่งสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผลที่ได้จากโครงการ จะนำมาจัดทำผังระบบการระบายน้ำ มาตรการ แผนงาน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการด้านผังเมือง ทั้งที่ใช้สิ่งก่อสร้าง และไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ขอให้ตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมระดมความคิดเห็น ช่วยกันทำให้การประชุมรับผลสำเร็จ ”
นายประพันธ์พงศ์ เชื้อเหิม ผู้จัดการโครงการ และวิทยากร กล่าวถึง ภาพรวมโครงการฯ ลักษณะโครงการ ความสำคัญของพื้นที่ วัตถุประสงค์ สภาพปัจจุบัน และสภาพปัญหาของจังหวัดในลุ่มน้ำโขง 25 ลุ่มน้ำย่อย ร่างแผนหลักการป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยจังหวัดในลุ่มน้ำโขง แผนการดำเนินโครงการในขั้นถัดไป เรื่องของน้ำท่วม-น้ำแล้ง ว่าเกิดขึ้นได้อย่าง จากอะไร จากอิทธิพลของน้ำในแม่น้ำโขง หรือเกิดจากการวางผังเมือง สิ่งก่อสร้าง สิ่งสาธารณูปโภคของเมือง ชุมชน ไปขวางทางเดินของน้ำเดิม จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
ทั้งนี้วิทยากรได้นำเสนอ ให้มีการนำกฎหมายผังเมือง เข้ามาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา อุทกภัยน้ำหลากรุนแรงทุกรอบ 25 ปี สภาพที่ลำน้ำ ลำห้วย ถูกบุกรุกมีสภาพคับแคบ อีกทั้งมีสภาพตื้นเขิน จนเกิดเป็นสภาพคอขวด น้ำระบายผ่านไปไม่สะดวก จนเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่ง ด้วยการควบคุมการก่อสร้าง อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ห่างจากลำน้ำ ลำห้วย ทางระบายน้ำ ในระยะที่กฎหมายระบุไว้ เพื่อให้น้ำล้นตลิ่งไหลผ่านไปได้
ขณะที่ตัวแทนส่วนราชการ และประชาชน ระบุว่า ลำน้ำ ลำห้วย ทางระบายน้ำ ไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยใดรับผิดชอบ เมื่อมีปัญหามักจะถูกปัดให้หน่วยงานอื่น จนเกิดความเสียหายจากคันดิน ถนนชำรุด น้ำไหลออกมาท่วมต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และการขอให้ผู้ศึกษา ให้ความสนใจกับผลกระทบ ที่เกิดจากการปิดกั้นทางน้ำ ทำให้ปลาในแม่น้ำโขง ขึ้นมาวางไข่ในลำน้ำสาขาได้ เพราะ น.โขง คือธนาคารพ่อแม่พันธุ์ปลา ที่มีมูลค่ามากมายมหาศาล ….