เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ก่อสร้างถนน “พาราซอยซีเมนต์” 3 สายของ ทต.โพนสูง อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี ติดตามการสอบสวนของคณะกรรมการ ที่นายอรรถพล พันธุศาสตร์ นายอำเภอไชยวาน ตั้งขึ้นหลังจากถนนสายบ้านคำม่วน-บ้านป่าก้าว ม.3 ทต.โพนสูง ระยะทาง 278 เมตร ที่ผู้รับเหมาส่งมอบงาน และ ทต.โพนสูง จ่ายเงินไปแล้ว แต่ถนนพังเสียหายในสภาพเละเป็นโคลน ตามที่ รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รอง ผอ.ฝ่ายพัฒนางานวิจัย และอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบ และให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูล
บริเวณถนนพาราซอยซีเมนต์ สายบ้านคำม่วน-บ้านป่าก้าว พบกับนายวีระพันธุ์ ศรีโคตรเรือง ท้องถิ่น อ.ไชยวาน , นางวรินทร ศิลปะรายะ รองปลัด ทต.โพนสูง รักษาการปลัด ทต.โพนสูง ปฏิบัติหน้าที่นายก ทต.โพนสูง , ผอ.กองช่าง ทต.โพนสูง , นายกฤษดา สีหานาวี หุ้นส่วน หจก.สีหานาวี (ไทยแลนด์) ผู้รับจ้างสร้างถนน โดยนำรถเกรดเดอขนาดใหญ่ มาเกรดปรับผิวถนนใหม่ทั้งสาย จนถนนที่มีสภาพเป็นร่อง 2 ล้อ และมีเลนเละในหลายจุด มามีสภาพเรียบรถวิ่งผ่านไปมาได้สะดวกขึ้น
โดยได้รับคำชี้แจงในภาพรวมว่า ทต.โพนสูง ได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา 2 ราย สร้างถนนพาราซอยซีเมนต์ 3 สาย กว้าง 6 ม. ยาว 278 ม. หนา 0.15 ม.งบประมาณ 493,000 บาท กรรมการลงตรวจสอบ สายแรกพื้นที่ ม.3 บ้านคำม่วง ผิวถนนเสียหายทั้งสาย หจก.สีหานาวี ผู้รับจ้างจะเข้ามาสร้างใหม่ , สายที่สอง ม.9 บ.โพนสูง ผิวถนนไม่มีความเสียหาย และสายที่สาม ม.11 บ.ชัยพร ผิวถนนเสียหายบางส่วน บ.เอสพี.เทรดดิ้ง จก. ผู้รับจ้างจะเข้ามาสร้างใหม่
นายกฤษดา สีหานาวี หุ้นส่วน หจก.สีหานาวี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า ก่อนจะเข้ามาสร้างถนนพาราซอยซีเมนต์ ได้ศึกษามาก่อนเพราะเป็นเรื่องใหม่ จึงเลือกใช้วัสดุของผู้ประกอบการรายอื่น ไม่ใช่ผู้ประกอบการ 3 ราย ที่เคยเกี่ยวข้องกับคดีในศาลปกครอง โดยวัสดุที่นำมาใช้ ได้รับรองจากการยางแห่งประเทศไทยแล้ว ขณะที่การก่อสร้างก็ทำตามแบบทุกขั้นตอน ตั้งแต่เคลียร์พื้นที่ , ลงลูกรัง , สเปรย์น้ำยาง , ใส่ปูน-บนอัด , สเปรย์น้ำยาง , รีไซกิ้ง-บดอัด และสเปรย์น้ำยางอีก 7 วัน โดยทำมาแล้ว 4 สายไม่มีปัญหา
“ ถนนสายนี้ส่งมอบงานเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา เพียงวันเดียวฝนก็ตกลงมาใส่ เมื่อกลับมาตรวจสอบพบว่า มีรถบรรทุกดินวิ่งผ่านติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ทำให้ถนนมีสภาพเละเป็นโคลน และเป็นร่องตามที่เห็นก่อนหน้านี้ ได้เข้ามาพบพูดคุยกับ ทต.โพนสูง เพื่อนัดหมายจะเข้ามาแก้ไข ก็เกิดเป็นข่าวจึงส่งเครื่องจักรมาแก้ไข และนัดจะเข้ามาสร้างใหม่ทั้งสาย หลังจากฝนหยุดตกหรือทิ้งช่วงก่อน เพราะถนนสายแรก ต.ลำเลาะ อ.ไชยวาน ทำตอนช่วงแล้งแข็งแรงดีมาก และเมื่อสร้างใหม่จะห้ามรถวิ่ง 7 วัน ”
นางวรินทร ศิลปะรายะ รองปลัด ทต.โพนสูง รักษาการปลัด ทต.โพนสูง ปฏิบัติหน้าที่นายก ทต.โพนสูง เปิดเผยว่า ทต.โพนสูง ได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ที่จะช่วยชาวส่วนยางพารา จึงขอสภาฯใช้เงินสะสมมาทำโครงการ เนื่องจากเป็นงานรูปแบบใหม่ เราเองไม่มีประสบการณ์ ได้ไปขอคำปรึกษาจากกรมทางหลวง นำมาตรฐานของกรมทางหลวงมาใช้ เมื่อมีปัญหาจนถนนเสียหาย ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างมาตรวจสอบ เพื่อทำการแก้ไขก่อนหน้าแล้ว ยืนยันว่าเม็ดเงินที่ใช้ไป จะได้ถนนตามแบบแน่นอน
นายวีระพันธุ์ ศรีโคตรเรือง ท้องถิ่น อ.ไชยวาน เปิดเผยว่า นายอรรถพล พันธุศาสตร์ นอภ.ไชยวาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จากการก่อสร้างถนนไม่ได้มาตรฐาน หรือจากการทำที่ผิดรูปแบบ ซึ่งนายอำเภอก็จะใช้อำนาจมากำกับดูแล และแจ้งให้ทางเทศบาลดำเนินการ แจ้งให้ผู้รับเหมามาดูแลแก้ไข ซึ่งผู้รับเหมาก็ยอมรับว่าถนนพังเสียหาย ซึ่งถนนแบบนี้หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ต้องปล่อยให้ถนนเซ็ตตัวอย่างน้อย 7-8 วัน จึงจะได้มาตรฐาน
” เทศบาลได้รับมอบงานและจ่ายเงินไปแล้ว ผู้รับเหมาไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ซึ่งในวันนี้ได้นำเครื่องจักรหนักมาซ่อมแซม เปิดปรับหน้าดิน หลังจากดินแห้งก็จะมิกซ์หรืออัดถนนให้ใหม่ ซึ่งจะรายงานให้นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป ”
ท้องถิ่น อ.ไชยวาน กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่าการถนนแบบนี้ ไม่คุ้มค่าเรื่องความมั่นคงแข็งแรง ถึงแม้ว่าเราจะใช้คอนกรีตกับน้ำยาง โดยใช้ดินลูกรังมาอัดมิกซ์ผสมกัน ความแข็งแรงทนทานสู้แบบแอสฟัลท์ไม่ได้ ราคาก็แตกต่างกันไม่มาก แต่การสร้างถนนแบบพาราซอย จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรยางพารา เป็นนโยบายของรัฐบาล ท้องถิ่นเลยต้องสนองนโยบาย แต่เมื่อเป็นเรื่องใหม่มีประสบการณ์ในพื้นที่ การสร้างถนนพาราซอยช่วงหน้าแล้ง จะมีสภาพถนนมั่นคงแข็งแรงดีหน้าฝน และเมื่อสร้างเสร็จต้องรอเซ็ทตัว 7-10 วันจึงจะใช้งานได้คงทน…