เร่งข้อมูลขอจัดงานพืชสวนโลก นายก อบจ.เสนอปรับแลนด์มาร์ค เป็นหอสูง 80-100 เมตร เพื่อมองเห็นระยะไกล “ทีเส็บ” ห่วงแผนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ทันงานพืชสวนโลก 2026 เสนอ ครม.มีมติรับรองจี้หน่วยงาน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2562 ที่ห้องประชุมสบายดี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รอง ผวจ.อุดรธานี นายธานินทร์ ผะเอม กรรมการสำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ ทีเส็บ นำหน่วยงานราชการ-องค์กรปกครองท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนอุดรธานี และทีมงานของ “ทีเส็บ” ร่วมประชุมคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกับ สสปน. พิจารณากรอบการดำเนินงานงานพืชสวนโลก 2026 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบก่อนเสนอต่อ “พืชสวนโลก” (AIPH) ให้สิทธิจัดงาน
ที่ประชุมยังคงยืนยันการชื่อว่า “มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี ค.ศ.2026 หรือ พ.ศ.2569 (UDON THANI International Horticultural Expo 2026) ภายใต้แนวคิด วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ (Harmony of Life ) บริเวณพื้นที่สาธารณะประโยชน์ “หนองแด” ต.กุดสระ อ.เมือง ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย พื้นที่รวม 975 ไร่ (พื้นที่ดิน 575 ไร่ พื้นที่น้ำ 400 ไร่) โดยจัดงานระหว่าง พ.ย.2569-มีนาคม 2570 (ระยะเวลา 134 วัน)
“งานพืชสวนโลกหนองแด อุดรธานี” จะเป็นการปักหมุดงานที่อุดรธานี และภาคอีสาน ทำให้เกิดการยอมรับในเวทีโลกครั้งแรก , จะกระชับความสัมพันธ์นานาประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) , เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ของพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก , ต่อยอดงานวิจัยในการพัฒนาพืชสวนโลก , เพิ่มพื้นที่สีเขียวและปอดแห่งใหม่ของอุดรธานี-อีสาน และการเพิ่มองค์ความรู้ในคนในพื้นที่ ”
เป้าหมายมีผู้เข้าชมงานทั้งในและต่างประเทศประมาณ 3.6 ล้านคน (แบ่งเป็นชาวไทย ร้อยละ 70 และ ชาวต่างประเทศ ร้อยละ 30) โดยมีไม่น้อยกว่า 15 ประเทศเข้าร่วมงาน ซึ่งจะทำให้ มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า 21,000 ล้านบาท , สร้างการจ้างงานกว่า 82,000 อัตรา , เกิดรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 7,900 ล้านบาท ,รายได้สะพัดกว่า 32,000 ล้านบาท
โดยรูปแบบของพื้นที่จัดแสดง 4 ส่วน คือ วิถีชีวิต , สายน้ำ , พืชพรรณ และสวนนานาชาติ จะมีการปรับแก้ใหม่ เมื่อนายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี ได้เสนอให้เพิ่มเติม “หอสูง” ในรูปแบบที่เหมาะสม 80-100 เมตร เพื่อเป็นแลนด์มาร์คเห็นจากถนนมิตรภาพ ทำให้อาจจะต้องปรับอาคาร ส่วนวิถีชีวิต จะลดขนาดของอาคารอำนวยการ – อาคารไทยอีสาน หรือแลนด์มาร์คเดิม , ส่วนสายน้ำ ปรับลดอาคารดอกบัวกลางน้ำ , ส่วนพืชพรรณ จะต้องชัดเจนของอาคารเรือนกระจก หรืออาคารเรือนเพาะชำ
ขณะที่ประชุม “ทีเส็บ” เสนอให้ การแต่งตั้งคณะกรรมการ จะต้องเพิ่มผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการ โดยเฉพาะหน่วยงานที่สนับสนุน หรือจะใช้งบประมาณเข้ามาสนับสนุนโครงการ , โครงสร้างพื้นฐานที่ระบุไว้ในศักยภาพ จะสามารถดำเนินการได้ตามที่ระบุหรือไม่ โดยเฉพาะโครงสร้างพืชฐานการคมนาคม , น่าห่วงเรื่องการสร้างอาคาร ที่พืชสวนโลกเน้นไม่ก่อสร้างมากเกินไป
ที่ประชุมสรุปขอมติต่อ “ครม.” ประกอบด้วย 1.ให้ จ.อุดรธานี จัดงานพืชสวนโลก 2026 , 2. ให้ใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ “หนองแด”, 3.สนับสนุนกรอบงบประมาณ 2,500 ล้านบาท , 4. ยืนยันแผนโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนพัฒนาที่เห็นชอบแล้ว ให้ทันในช่วงการจัดงาน ( รถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง-ขยายสนามบินรับ 7.5 ล้านคน-ขยายถนนอุดร-หนองคาย , ขยายถนนวงแหวนตะวันออก-ตัดถนนใหม่อุดร-บึงกาฬ-ประปาจากแม่น้ำโขง-อื่นๆ) และ 5.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ , คณะผู้บริหาร และรูปแบบการบริหาร