ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2562 นายชาญวิทย์ อาจสมิติ ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนา ระบบขนส่งสาธารณในเขตเมืองอุดรธานี , ผศ.ภาวัต ไชยชาณวาทิก ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจร , รศ.ดร.นพภาพร พานิช ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อม และ ผศ.ดร.จำรัส พิทักษ์ศฤงคาร ผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งสาธารณะ ได้ร่วมกันรายงานความคืบหน้าโครงการฯ ในขั้นตอนการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 รวม 3 กลุ่ม ซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์จะเสร็จอีก 4 เดือนข้างหน้า
นายชาญวิทย์ อาจสมิติ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณะยังคงมี 6 สาย สีแดง-สีเขียว-สีส้ม-สีน้ำเงิน-สีชมพู-สีเหลือง จากเดิมที่มีระยะทาง 70 กม. ได้เพิ่มขึ้นเป็น 100 กม. โดยขยายเส้นทางไปถึง สายสีน้ำเงิน ขยายถึงตลาดผ้านาข่า และถึงค่ายสุนทรธรรมธาดา , สายสีชมพู ขยายถึง มรภ.อุดรธานี(สามพร้าว) และจากจำนวนผู้โดยสารเหมาะจะใช้ “รถเมล์ไฟฟ้า” ทั้งขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ ที่จะให้ค่าใช้จ่ายลดลงเรื่อยๆ จากนั้นจึงจะเป็น “พ่วง” และ “แทรม” และเตรียมพัฒนาระบบรางในอนาคต
“ โดยเสนอให้เริ่มที่ 2 สายก่อน คือ สายสีแดง ระยะทาง 10.8 กม. เป็นการเชื่อมสนามบิน-ขนส่ง-รถไฟ เข้าหากัน เริ่มจาก ยูดี.ทาวน์-สถานีรถไฟ-เซ็นทรัล-ไปตามถนนประจักษ์-ทุ่งศรีเมือง-ทน.อุดรฯ-ศาลากลาง-อบจ.-พิพิธภัณฑ์-บขส.2-วิทยาลัยพละ.-สนามบิน , สายสีส้ม ระยะทาง 9.8 กม. เชื่อมสถานีรถไฟกับสถานที่สำคัญเป็นวงกลม เริ่มจากสถานีรถไฟ-รพ.กรุงเทพ-ไปตามถนนวัฒนา-แยกชลประทาน-ว.เทคนิค-หนองประจักษ์-รพ.ศูนย์-แยกวัดโพธิ์-แยกวีที.-แยกคอกม้า-กฟภ.-แยก รร.บ้านหมากแข้ง-กรมหลวง-บขส.1-สถานีรถไฟ ”
ผศ.ภาวัต ไชยชาณวาทิก ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจร กล่าวว่า อุดรธานีคนส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ และจักรยานยนต์ จะใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ จะทำอย่างไรให้คนมาใช้ขนส่งสาธารณะ เพื่อเอารถยนต์ออกจากถนน จึงต้องจัดระบบขนส่งให้สอดคล้องกัน ด้วยการใช้บัสเลน-พื้นที่ห้ามจอด-ห้ามเลี้ยวขวา-วันเวย์–อื่นๆ ซึ่ง ทน.อุดรธานีได้นำระบบการควบคุมสัญญาณไฟจราจร มาใช้ซึ่งมีความพร้อมอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ขณะนี้กำลังร่างแผนจัดจราจร บนถนนสายหลัก 5 สาย ให้เกิดความสะดวกและปลอดภัย
ผศ.ดร.จำรัส พิทักษ์ศฤงคาร ผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งสาธารณะ กล่าวว่า การเดินและปั่นจักรยาน จะทำให้มีผลดีเรื่องสุขภาพดี ลดค่าใช้จ่ายหารถยนต์-ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง-ค่าบำรุงรักษา จะทำให้มีเงินเก็บมากขึ้น ทำอย่างไรให้สถานที่เหมาะแก่การเดิน และปั่นจักรยาน จึงได้เลือกพัฒนาพื้นที่รอบสถานี หรือ ทีโอดี.ไว้ 2 จุด คือ จุดแรก สถานีรถไฟ-ยูดี.ทาวน-เซ็นทรัล จุดที่สอง ห้าแยกน้ำพุ-ถนนโพศรีตัดกับถนนหมากแข้ง สำหรับจุดจอดแล้วจรจะต้องห่างจาก ทน.อุดรธานี 3 กม.ในถนนสายหลัก
รศ.ดร.นพภาพร พานิช ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รูปแบบของการใช้รถเมล์ไฟฟ้า จะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งตัวรถที่ใช้บริการผู้โดยสาร หรือการจัดทำป้าย และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีผลดีที่สามารถลงทุนได้ทันที หากเป็นระบบรางต่างๆ จะต้องออกแบบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งระหว่างการก่อสร้าง และที่มีการเดินรถ ซึ่งจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ทำให้ระหว่างใช้รถเมล์ไฟฟ้า ก็เตรียมความพร้อมระบบรางไปด้วย
อย่างไรก็ตามผู้ร่วมเวทีให้ความเห็นว่า อุดรธานีมีสภาพเป็นศูนย์กลาง ผู้คนที่เดินทางมาด้วยเครื่องบิน หรืออนาคตจะมีรถไฟรางคู่ และความเร็วสูง คนส่วนหนึ่งใช้อุดรธานีเป็นทางผ่าน ได้นำเอาส่วนนี้มาประกอบการศึกษาหรือไม่ , การศึกษาให้ความสำคัญเรื่องอนาคต สำหรับจำนวนผู้โดยสารรถสาธารณะ ขณะที่อุดรธานีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก อนาคตจะต้องศึกษาอีกหรือไม่ , ขอให้มีการศึกษา บขส.3 และศึกษาการเตรียมความพร้อม การซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้า ….