ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ว่าที่ห้องประชุมเวสสุวัณ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา นายวรงค์ คลังเงิน ท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานและร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การรวมกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะมูลฝอย (Clusters) กลุ่มที่ 1 กับนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายก ทน.อุดรธานี เป็นเจ้าภาพหลักมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นอีก 50 แห่ง เป็นสมาชิกนำขยะมูลฝอยไปทิ้ง
นายวรงค์ คลังเงิน ท้องถิ่น จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า อุดรธานีได้มีการปรับแผนงาน การรวมกลุ่มจัดการขยะมูลฝอย จาก 6 กลุ่ม 4 สถานี มาเป็น 4 กลุ่ม โดยมีเจ้าภาพมีสถานที่กำจัดขยะคือ ศูนย์จัดการขยะเทศบาลนครอุดรธานี ที่ลงนามความร่วมมือในวันนี้ 51 แห่ง ประกอบด้วย อ.เมือง 25 แห่ง , อ.กุดจับ 3 แห่ง , อ.บ้านผือ 1 แห่ง , อ.เพ็ญ 1 แห่ง , อ.หนองวัวซอ 9 แห่ง , อ.หนองหาน 1 แห่ง , อ.ประจักษ์ศิลปาคม 2 แห่ง อ.พิบูลย์รักษ์ 1 แห่ง และ อ.กุดจับ 8 แห่ง , ศูนย์จัดการขยะ ทต.กงพานพันดอน อ.กุมภวาปี 43 แห่ง , ศูนย์จัดการขยะเทศบาลตำบลหนองหาน 25 แห่ง และ ศูนย์จัดการขยะ อบต.เชียงหวาง อ.เพ็ญ 61 แห่ง
“ ทน.อุดรธานี มีความพร้อมในการกำจัดขยะ มีศูนย์กำจัดขยะแบบฝังกลบ ตามหลักวิชาการมานาน รองรับขยะจากองค์กรปกครองท้องถิ่นอยู่แล้ว และกำลังก่อสร้างระบบแยกขยะที่ทันสมัย รองรับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นอีก 3 แห่ง ที่จะเป็นศูนย์กำจัดขยะ ก็มีแผนการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน นำระบบการจัดการขยะที่ทันสมัย เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ เพื่อรองรับขยะมูลฝอยครอบคลุมทั้งจังหวัด ที่มีปริมาณขยะวันละ 1,100 ตัน ”
นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายก ทน.อุดรธานี เปิดเผยว่า ศูนย์จัดการขยะ ทน.อุดรธานี กำจัดขยะด้วยการฝังกลบมานาน ปัจจุบันมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 35 แห่ง นำขยะมาทิ้งรวมแล้ว 300 ตัน/วัน โดยจ่ายค่าธรรมเนียม 375 บาท/ตัน จากปริมาณขยะที่สะสมมานาน พื้นที่ใช้ในการฝังกลบใกล้เต็ม ทน.อุดรธานี ได้ร่วมลงทุนกับ บ.ไทยโซริค รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จก. วงเงิน 240 ล้านบาท (เอกชนลงทุนทั้งหมด) ด้วยการแยกขยะนำบางส่วนกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งตามสัญญาจะดำเนินการได้ ราวเดือนมิถุนายน 2562
“ การคัดแยกขยะใช้เทคโนโลยีของเกาหลี สามารถจัดการขยะได้วันละ 600 ตัน การแยะขยะจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกขยะใช้เป็นพลังงานได้ จะนำผลิตเป็นแท่งพลังงาน หรือ RDF ส่วนที่สอง เป็นขยะสามารถนำไปรีไซด์เคิลได้ ส่วนที่สามคือขยะอินทรีย์นำไปผลิตเป็นปุ๋ย โดยจะเริ่มจัดการกับขยะใหม่วันละ 300 ตัน และขยะเก่าที่ฝังกลบอยู่วันละ 150 ตัน ซึ่ง อปท.ยังคงจ่ายค่าธรรมเนียมเท่าเดิม และ ทน.อุดรธานีจะมีรายได้ 2.5 เปอร์เซ็นต์ จากรายได้ของบริษัทฯร่วมทุน ”
นายก ทน.อุดรธานี เปิดเผยอีกว่า ทน.อุดรธานี ได้ต่อยอดเพื่อนำแท่งพลังงาน มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ศูนย์จัดการขยะ ตามการประกาศเชิญชวนของคณะกรรมการกิจการพลังงาน โดยได้เสนอรูปแบบการนำพลาสติก กลับมาผลิตเป็นน้ำมันเตา กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบ และมอบให้ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี อนุญาตให้ ทน.อุดรธานีดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน ที่จะเข้ามาร่วมทุนในลักษณะเดียวกัน กับการแยกขยะที่กำลังจะดำเนินการ….