ผู้ตรวจการพิเศษสำนักนายกฯ เดินสายพบโรงงานยางแท่งอุดรฯ 6 โรง ชวนมาทำข้อตกลงร่วมกันไม่ซื้อ “ยางเปียก” ลดปัญหาน้ำเซรั่มในยางก่อนถ้วย มารวมกันที่โรงงานยางแท่ง 2 โรงแรกท่าที่สดใส เชื่ออีกไม่เกิน 1 เดือน จับมือเซ็นเอ็มโอยู
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว , พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ และ พ.ต.ท.ชินโชติ พุฒิวรรธธาดา ผู้ตรวจพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมนายพัดทอง กิตติวัฒน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี และตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานี , สิ่งแวดล้อมภาค 9 , ทสจ.อุดรธานี , สสจ.อุดรธานี ร่วมเข้าพบผู้บริหารโรงงานยางแท่ง 6 โรง เพื่อร่วมหาแนวทางรับซื้อวัตถุดิบลดกลิ่นเหม็นที่ บ.ศรีตรัง แองโกรอินดัสทรี จก.(มหาชน) และ บ.ไทยฮั้วยางพาราอุดรธานี จำกัด (มหาชน) ถ.นิตโย จ.อุดรธานี
โดยแนวทางการแก้ไขครั้งนี้เห็นว่า ยางก้อนถ้วยที่ถูกส่งเข้าโรงงาน มีเนื้อยางจริง 40-55 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นน้ำที่เรียกว่า “น้ำเซรั่ม” ซึ่งเป็นต้นเหตุของกลิ่นเหม็น น้ำเซรั่มที่ติดมากับยางก่อนถ้วย จะถูกนำมารวมกันที่โรงงานฯ ซึ่งมีจำนวนรวมกันมหาศาล อยากแก่การบำบัดให้สมบูรณ์ ให้ทุกโรงงานกลับไปหาหนทาง หากจะรับซื้อยางก้อนถ้วยไม่สด จะซื้อได้เปอร์เซ็นต์ยางเท่าใด หรือการรับซื้อยางเครฟ จะดำเนินการได้หรือไม่ หรือมีผลกระทบอะไร แล้วนำมาทำข้อตกลงกันทุกโรง
แห่งแรกที่ บ.ศรีตรังแองโกรอินดัสทรี จก.(มหาชน) นายเฉลิมชัย หน่อสกุล ผู้จัดการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายพรศักดิ์ ไพยศาล ผจก.โรงงานฯ ชี้แจงว่า โรงงานดำเนินการแก้ไขตลอดมา ตั้งแต่สร้างระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ 16 ล้านบาท , ปรับปรุงเวสครับเบอร์ 4 ล้านบาท , สร้างไบโอสครับเบอร์ 7 ล้านบาท , สร้างประตูปิดโรงเก็บยางก้อนถ้วย 1.7 ล้านบาท (จะติดตั้งเครื่องดูดอากาสไปบำบัด) , กำลังสร้างประตูโรงเก็บยางเครฟ และมีการลงทุนแก้ปัญหาต่อเนื่อง
“ โรงงานซื้อทั้งยางก้อนถ้วย และยางเครฟ ยินดีที่จะรับซื้อยางก้อนถ้วยเนื้อยาง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นห่วงความเคยชินของชาวสวน ที่ต้องพักยางก้อนถ้วยไว้อีก 15 วัน ยางพาราจะไหนไปโรงงานรับซื้อ ทั้งในและต่างจังหวัด สำหรับยางเครฟยังไม่พร้อม ต้องการให้ทางราชการ ออกประกาศมาตรฐานยางเครฟ เพราะหากยางเครฟมีสิ่งเจือปนมาก โรงงานก็ต้องเอามาทำใหม่อีกรอบ และห่วงเรื่องน้ำเซรั่มจะกระจายไปตามจุดต่างๆ ”
แห่งที่สองที่ บ.ไทยฮั้วยางพาราอุดรธานี จำกัด (มหาชน) มีนายนิธิชัย เธียรจันทร์วงศ์ ผจก.โรงงานฯ นำชี้แจงว่า เป็นโรงงานแห่งแรกอีสานตั้งมากว่า 20 ปี มีการพัฒนาจากยางแผ่น มาเป็นยางก้อนถ้วยและยางเครฟ มีกลิ่นระยะแรกๆ ปัจจุบันจะมีกลิ่นช่วงความกดอากาศต่ำ ปัจจุบันผลิตยางแท่ง 4,000 ตันต่อเดือน ยางก้อนถ้วยที่รับซื้อจะกองกลางแจ้ง ใช้น้ำฉีดไล่น้ำเซรั่มออกจากกองยาง เพื่อนำน้ำเซรั่มออกมาบำบัด 2 สัปดาห์จะใช้ผ้าใบคลุม หรือเอาเข้าเก็บในโกดังแบบปิดรอผลิต ส่วนเวสครับเบอร์ใช้น้ำเปล่าอุณหภูมิต่ำ-น้ำลดแรงตึงผิว-น้ำด่าง
“ พร้อมทำข้อตกลงกับโรงงานอื่น ในการรับซื้อวัตถุดิบเนื้อยาง 70 เปอร์เซนต์ แต่ห่วงว่าจะกระทบชาวสวน ที่มีความต้องการขายทันที เพราะชาวสวนจะนำมาขายที่ลาน ซึ่งมีขนาดและเงินหมุนเวียนต่างกัน และยังไปเกี่ยวกันพ่อค้าคนกลาง การจะเริ่มดำเนินการต้องพร้อมกันทุกโรง ต้องจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ แนะนำเกษตรกร ให้เกิดการปรับตัว และการจัดโปรโมชั่นต่างๆ จนกว่าปรับรอบ แล้วเกิดความเคยชิน ”
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่หลายครั้งและหลายจังหวัด พบว่าเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา กลิ่นเหม็นจากโรงงานยางแท่ง อุดรธานีพัฒนาไปมากกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่ปัญหากลิ่นก็ยังคงอยู่ จึงกลับมาทบทวนประเด็นแรก “น้ำเซรั่ม” ที่มารวมกันเป็นจำนวนมาก เป็นต้นเหตุของกลิ่นเหม็น เราจึงต้องการลดน้ำเซรั่ม ที่มันกระจุกตัวอยู่ในโรงงาน จึงเชิญชวนโรงงานยางแท่งในอุดรธานี 6 โรง ร่วมรณรงค์ลดความเสี่ยง นำยางที่มีแห้งเป็นเนื้อยาง 70 เปอร์เซ็นต์ มาผลิตแทนยางเปียกเนื้อยาง 50 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นที่สองการกำหนดมาตรฐานกลิ่นโรงงานยาง ประเด็นที่สามการควบคุมสถานที่จัดเก็บ และประเด็นการรณรงค์ใช้สารทำให้ยางแข็งตัว
“ เชื่อว่าในอนาคตจะแก้ปัญหาแบบยังยืนได้ วันนี้เริ่มต้นเรามาพบแล้ว 2 โรงงาน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี พรุ่งนี้จะไปต่อจนครบ แล้วเข้าพบหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด น่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว ถ้าทำแนวทางรายละเอียดเร็ว ก็คงจะประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จะมาดูรายละเอียดความร่วมมือ จะเป็นลักษณะอย่างไร แล้วลงนามความร่วมมือกัน สำหรับในยางเครฟเราคิดว่าระยะยาว เนื่องจากยางก้อนถ้วยที่มีความชื้นสูง มันเป็นความเคยชินของชาวบ้าน การจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรโดยเร็ววัน มันจะทำให้การแก้ปัญหาไม่เกิดขึ้น ”