“น้ำประปา” เมืองอุดรธานียังไม่มีความมั่นคง…เป็นประโยคคำพูดที่มีมานานมาก และมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่เอาน้ำโขงมาใช้ คุยกันมากว่า 20 ปี วันนี้ยังมีปัญหา ทำให้ต้องหาทางผ่าวิกฤตมาตลอด
ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เมืองอุดรธานีต้องพึ่งพาน้ำดิบของ “อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง” มาผลิตน้ำประปา ปีไหนฝนน้อย น้ำในอ่างต่ำกว่าเกณฑ์ คนเดือดร้อนคือเกษตรกร ชาวเมืองจะถูกเลือกให้ใช้น้ำก่อน ซึ่งปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกปี นับวันเกษตรกรจะได้ใช้น้ำลดลง ความมั่นคงของน้ำประปา ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนแต่ละปี หรือแก้กันไปแบบปีต่อปี
เริ่มมาตั้งแต่ การสร้างสถานีผลิตประปาชั่วคราว (ปัจจุบันเอาออกแล้ว) เพิ่มขึ้นที่สถานีหนองประจักษ์ศิลปาคม ตามด้วยการสร้างสถานีประปา บ้านวัวข้อง ถ.อุดรธานี-กุดจับ (ผู้รับเหมาทิ้งงานต้องล่าช้า) ก่อนจะเกิดแผนงานประปาจากแม่น้ำโขง ในช่วงปี 41 ซึ่งแผนงานต้องใช้เงินกู้มาลงทุน โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี. ยินดีสนับสนุน แต่มีข้อแม้ว่า ต้องขึ้นราคาค่าน้ำประปาในส่วนนี้ เพื่อคืนเงินกู้ตามแผน โดยไม่ต้องพึ่งงบจากภาครัฐ ทำให้แผนงานนี้ต้องตกไป และไม่มีใครหน้าไหน มองเห็นปัญหาในอนาคต
จนในปี 53 ในช่วงใกล้วิกฤตน้ำประปาเมืองอุดรธานี โครงการไทยเข้มแข็ง ได้อนุมติงบประมาณอย่างรวดเร็ว เล่นแร่แปรธาตุเอาที่ดินของ องค์การอุสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) มาสร้างสถานีผลิตประปาบ้านโนนบุญมี ถ.อุดรธานี-หนองบัวลำภู ตาก็ยังนำน้ำดิบจากอ่างฯห้วยหลวง มาผลิตน้ำประปาเพิ่มเป็นสถานีที่ 3
แต่ปัญหาน้ำดิบอ่างฯห้วยหลวง ก็ยังไม่มีความมั่นคง จึงเกิดแผนงานให้สถานีหนองประจักษ์ฯ นำน้ำดิบจากอ่างฯหนองสำโรง มาใช้แทนน้ำจากอ่างฯห้วยหลวง และให้สถานีกุมภวาปี นำน้ำดิบจากทะเลบัวแดง มาผลิตน้ำประปาส่งมาช่วยพื้นที่ ต.โนนสูง และ ถ.มิตรภาพอุดรธานี-ขอนแก่น ทั้งหมดก็เป็นเพียงระยะสั้น
และในปี 61 รัฐบาลอนุมติงบประมาณโครงการ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ ให้ก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาอุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู ในส่วนแผนงานอุดรธานี-หนองคาย จะสร้างสถานีผลิตน้ำประปาที่ “ปะโค” ริมแม่น้ำโขง จ.หนองคาย วางท่อส่งน้ำประปามาให้ จ.หนองคาย , สองข้างทางถนนอุดรธานี-หนองคาย และมาเมืองอุดรธานี คาดว่าจะรองรับการเติบโตเมืองได้กว่า 20 ปี
วิกฤติล่าสุด…เกิดขึ้นช่วงปลายปีงบประมาณ เมื่อการประกวดราคาหาผู้รับจ้าง มีผู้รับเหมาร้องขอความเป็นธรรม ประกอบกับรัฐบาลออกประกาศ ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ เพื่อปิดช่องว่างการคอรัปชั่น ซึ่งกติกาใหม่ได้ส่งผลให้โครงการประปาจากน้ำโขง ที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้างอาจจะต้องตกไป ทำให้การประชุม ครม.สัญจร จ.หนองคาย สั่งให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติแก้ไขเรื่องนี้…จะทำได้หรือไม่?