วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมประปาเมืองอุดรรอดแล้ง ขอฝนหลวงช่วย “ถั่วสมเด็จย่า”

ประปาเมืองอุดรรอดแล้ง ขอฝนหลวงช่วย “ถั่วสมเด็จย่า”

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี นายวิชัย จาตุรงค์กร ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในอ่างฯห้วยหลวงปีนี้ มีน้ำไหลเข้าอ่างฯต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก จึงออกประกาศแจ้งไปแล้ว 1 ฉบับ พร้อมขอรับการสนับสนุน “ฝนหลวง” ให้เข้ามาช่วยเหลือ รับแจ้งว่าบรรจุเข้าแผนไปแล้ว โดยสถานการณ์ล่าสุด มีน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มเติม จากความจุอ่างฯ 135 ล้าน ลบม. มีน้ำอยู่ 67 ล้าน ลบม.หรือราว 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุเท่านั้น

“ อ่างฯห้วยหลวงเป็นแหล่งน้ำสำคัญ เพื่อส่งไปผลิตน้ำประปาเมืองอุดรธานี แม้ที่ผ่านมาบางปีช่วงตุลาคม จะมีฝนน้ำไหลเข้าอ่างฯ 40-60 ล้าน ลบม. แต่ปีนี้คาดว่าฝนจะหมดเร็ว หากพ้นกลางตุลาคนไปแล้วจะไม่มีฝน หากไม่มีน้ำไหลเข้ารวมเกินกว่า 70 ล้าน ลบม. ก็จะไม่ส่งน้ำให้เกษตรกรในฤดูแล้งนี้ จะสงวนไว้เพื่อผลิตประปา ซึ่งแต่ละวันจะใช้น้ำผลิตประปา สูญเสียจากการรั่วซึม และระเหย วันละ 2 แสน ลบม. หรือราว 40 ล้าน ลบม.ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ”

นายวิชัย จาตุรงค์กร ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง เปิดเผยอีกว่า ยังมีความหวังมีพายุ และร่องความกดอากาศ มาช่วยเพิ่มน้ำในอ่างฯ หากไม่มาและไม่มีน้ำไหลเข้า โครงการจะปล่อยน้ำให้เกษตรกรอีก 1 ครั้ง ในช่วงข้าวกำลังตั้งท้อง โดยขณะนี้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ สำรวจความต้องการเกษตรกร เพื่อใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้น้ำเหลืออยู่ก้อนอ่างฯ 7 ล้าน ลบม. และให้มีน้ำสำรองหากฝนมาช้าปีหน้า

ขณะที่นายบุญถม วรรณศิริ อายุ 59 ปี ชาวนาบ้านหัวขัว ม.15 ต.กุดจับ อ.กุดจับ เปิดเผยว่า ทำนาข้าวในพื้นที่ชลประทาน 8 ไร่ ในกลุ่มจะผู้ใช้น้ำพื้นที่ราว 100 ไร่ ทุกปีจะทำทั้งนาปีไว้รับประทาน และทำนาปรังไว้ขาย ซึ่งนาปียังต้องใช้น้ำช่วงข้าวตั้งท้อง จะเปิดน้ำจากคลองส่งน้ำเดือนตุลาคม เท่าที่ดูน้ำฝนในคลองที่เหลืออยู่ และความชื้นในนาข้าว น่าจะเพียงพอกับต้นข้าว หากฤดูแล้งไม่มีน้ำจากอ่างฯส่งมา ก็คงจะไม่ได้ปลูกข้าวนาปรัง และยังไม่ตัดสินใจจะปลูกอะไร หรือทำอะไร มีความหวังว่าจะมีฝนตกมาอีก

นางประยูร ไพศาล รองประธานกลุ่มแม่บ้านหนองโน อ.กุดจับ เปิดเผยว่า กลุ่มฯรับซื้อถั่วลิสงพันธุ์ไทยนาน 9 หรือพันธุ์พระราชทานจากสมเด็จย่า มาแปรรูปเป็นถั่วคั่วทราย , ถั่วกระจก , ถั่วทอดสมุนไพร และถั่วเคลือบ ได้รับรองคุณภาพจนมีชื่อเสียง แต่ละปีมีผลผลิตรวมกว่า 40 ตัน ทำให้เกษตรกรสนใจปลูกกันมาก โดยผลผลิตที่มีคุณภาพที่สุด คือถั่วที่ปลูกในช่วงฤดูแล้ง จนมีถั่วแปรรูปชื่อดังมาส่งเสริมปลูกเพิ่ม แต่บางปีอ่างฯงดส่งน้ำ ทำให้ผลผลิตลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

“การปลูกถั่วในพื้นที่ อ.กุดจับ สร้างรายได้ให้เกษตรกร การจ้างงาน ตั้งแต่ปลูก , ดูแล , เก็บเกี่ยว , ตลอดจนการแปรรูป และน้ำคือหัวใจสำคัญ ต้องใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ถ้าไม่มีน้ำจากอ่างฯส่งมาให้ เกษตรกรก็ต้องใช้น้ำเท่าที่มีอยู่ ทั้งห้วย หนอง สระน้ำไร่นา พื้นที่ปลูกก็จะลดลงมาก ขณะมีบางรายลงทุนเจาะน้ำบาดาล ซึ่งจะต้องลงทุนบ่อละหลายหมื่นบาท ถึงวันนี้ชาวบ้านรู้แล้วว่าจะมีปัญหา แต่ก็ยังมีความหวังจากฝนหลวงอยู่”

นายชัชวาล ลือคำหาญ นายก ทต.กุดจับ เปิดเผยว่า การปลูกถั่วในช่วงฤดูแล้ง กลายเป็นวิถีชีวิตของคนที่กุดจับ เพราะปลูกถั่วมีคุณภาพมาก การแปรรูปเองของท้องถิ่น จนประสบความสำเร็จ ทำให้มีกลุ่มทุนมาส่งเสริมเพิ่ม ปีไหนมีน้ำไม่พอก็กระทบภาพรวม มีความหวังจากฝนอีก 1 เดือน หากไม่มีฝนมา ทต.กุดจับ ได้เตรียมแนวทางรองรับ ใช้หนองน้ำสาธารณะ 4 แห่ง คือ หนองแวงคำ, หนองไชยวาน, หนองข่า และหนองโน ในการปลูกถั่วแปลงใหญ่

“ทันทีที่เรารู้ว่าอ่างฯไม่ปล่อยน้ำมา จะไปพูดคุยกับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ 4 หนองน้ำ ขอใช้น้ำปลูกถั่วแปลงใหญ่ รอบพื้นที่หนองน้ำแต่ละแห่ง โดย 1 ใน 4 แห่ง มีพื้นที่ของวัดไว้รองรับ 14 ไร่แล้ว ขณะพื้นที่ของชาวบ้านหลายราย ก็พร้อมแบ่งให้ใช้ปลูก เมื่อมีความชัดเจนแล้ว ก็จะใช้ช่วงอ่างฯส่งน้ำข้าวตั้งท้อง ระบายน้ำเข้ามาเก็บไว้ในทุกหนอง แม้จะไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด แต่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ถั่วกุดจับไม่ขาดตอน”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments