โรงไฟฟ้าฯ อ.หนองหาน เดินหน้าเปิดเวที 21-22 สิงหานี้ กลุ่มต้นหันพึ่งนักวิชาการ เปรียบศูนย์แยกขยะบ้านโสกหมู กับโรงไฟฟ้าบ้านป่าก้าว เหมือนกับ “ที่พักศพกับเมรุ” ย้ำก่อนทำเวทีให้ชาวบ้านตัดสินใจ ต้องให้ความรู้และข้อเท็จจริงก่อน พร้อมเสนอตั้งกรรมกรรมคนกลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ที่ศาลาประชาคมบ้านป่าก้าว ต.ผักตบ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี กลุ่มต่อด้านโรงไฟฟ้าพลังงานผสมผสาน วัสดุเหลือจากการเกษตร 70 เปอร์เซ็นต์ ขยะที่เผาได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ขนาด 20 เม็กกะวัตต์ กม.26-27 ถนนนิตโย บ.ป่าก้าว ต.ผักตบ โดยการนำของนายคำปลาย คำแพงราช อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านผักตบ ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากจังหวัดอุดรธานีแจ้งว่า ได้อนุญาตให้ บ.ไทยโก้ เทคโนโลยี จก. จัดเวทีทำความเข้าใจประชาชนในวันที่ 21 และ 22 สิงหาคมนี้ ที่เทศบาลตำบลผักตบ และเทศบาลตำบลหนองหาน
โดยมีนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษย์ชนและสิ่งแวดล้อม อดีตประธาน กปปช.ภาคอีสาน , น.ส.สุภาพร มาลัยลอย นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม , นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มรภ.อุดรธานี มาให้ความรู้ด้านกฎหมาย และเครือข่ายประชาชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประกอบด้วย นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เดินทางมาให้กำลังใจ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และทหาร มาดูแลความเรียบร้อย
น.ส.สุภาพร มาลัยลอย นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการที่ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม ก่อนจะมีส่วนร่วมก็ต้องรู้ข้อมูลก่อน เท่าที่ถามชาวบ้านยังไม่มีข้อมูล ตัวอย่างไม่รู้ว่าคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นกำกับดูแลเรื่องนี้ ที่ส่งเรื่องมาให้พลังงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ก่อนให้ กกพ.อนุมติ ซึ่งจากคำสั่ง คสช.โรงไฟฟ้าฯรับยกเว้นกฎหมายผังเมือง
“ เป็นหน้าที่ของภาครัฐต้องให้ข้อเท็จจริงชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านต้องไปแสวงเอง ไปยื่นขอข้อมูลจาก กกพ.เขต จ.ขอนแก่น ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับ แม้โรงไฟฟ้าฯที่นี่จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ.) แต่ก็เป็นผู้ลงทุนเป็นคนว่าจ้างที่ปรึกษา ก็เกรงกันว่าจะเข้าข้างผู้ว่าจ้าง มีหลายคนเคยพูดว่า จะมี อีไอเอ.ฉบับของชาวบ้านได้หรือไม้ แม้จะไม่มีกฎหมายเขียนไว้
นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มรภ.อุดรธานี กล่าวว่า จะมีการลงทุนใน 2 ส่วน ส่วนแรกศูนย์กำจัดมูลฝอยบูรณาการระบบปิด บ.โสกหมู ต.หนองหาน ทำหน้าที่รวบรวมขยะ และทำการคัดแยกขยะ ส่วนหนึ่งที่ได้คือขยะที่ติดไฟได้ จะขนมาที่โรงไฟฟ้าฯ บ.ป่าก้าว ต.ผักตบ ที่จะใช้พลังงานจากเศษวัสดุการเกษตร 70 เปอร์เซ็นต์ และขยะ 30 เปอร์เซ็นต์ เปรียบง่ายก็เหมือนบ้านโสกหมูเป็น “ที่พักศพ” และบ้านป่าก้าวเป็น “เมรุเผาศพ” มีข้อมูลทั้งด้านวิชาการหลากหลายมากมาย แต่ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่มีข้อมูลเลย ก่อนจะทำ อีไอเอ.น่าจะมีคนกลางมาให้ข้อมูลก่อน
นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ต่อสู้คัดค้านเหมืองโพแทชอุดรธานีมากว่า 18 ปี เคียงข้างกับชาวบ้านไม่เปลี่ยนแปลง ผอ.คำปลายฯไปปรึกษา แต่ก็ให้ข้อมูลอะไรไม่ชัดเจน เพราะเราเองก็เป็นเพียงชาวบ้าน จึงเดินทางมาให้กำลังใจทุกคน มาบอกว่าเรากำลังต่อสู้กับนโยบายรัฐ ต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผลแล้ว ต้องเชื่อผู้นำร่วมต่อสู้กันไปด้วยกัน
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษย์ชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ชาวบ้านที่ อ.หนองหาน ไปปรึกษาเรื่องโรงไฟฟ้าฯ เพราะมีความห่วงใยภัยจะตามมา และเห็นว่าชาวบ้านจะต้องเข้าใจสิทธิของตัวเอง จะสามารถทำอะไรได้บ้างภายใต้กฎหมาย ซึ่งมีทั้งสิทธิตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายเกี่ยวกับพลังงาน กฎหมายคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ไม่ได้มาชักชวนให้ชาวบ้านมาต่อต้าน ซึ่งวันนี้มีข้อเสนอในเวทีว่า น่าจะมีคณะกรรมกร หรือคณะทำงาน 1 ชุด นำเอาข้อเท็จจริงมาให้ชาวบ้าน ทำความเข้าใจมากกว่าเอกสารที่แจกจ่ายไป ทั้งหมดอยู่ที่ชุมชนจะตัดสินใจ
ก่อนปิดเวทีนายคำปลาย คำแพงราช อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านผักตบ แกนนำคัดค้างโรงไฟฟ้าฯ ได้อ่านแถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี ระบุว่า โรงไฟฟ้าฯ ที่จะเข้ามาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ ไม่มีความโปร่งใส ไร้หลักธรรมาภิบาล และยังไม่ได้คำนึงถึงความเป็นปกติสุขของชุมชน อันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น และได้สร้างความแตกแยกให้กับชุมชน
เราต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืนได้อย่างแท้จริง พวกเราจะหลอมรวมพลัง ร่วมมือปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิต และระบบนิเวศของชุมชน พวกเราจะสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขยายการเรียนรู้ไปยังพื้นที่อื่น ในการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมระบบนิเวศเพื่อส่งต่อพื้นดินของเราให้เป็นมรดกสู่ลูกหลานสืบไป