วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมยก“หนองนาคำโมเดล”แก้โรงยางเหม็นทั่วประเทศ

ยก“หนองนาคำโมเดล”แก้โรงยางเหม็นทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางมาติดตามความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาโรงยางแท่งเหม็นครั้งที่ 2 โดยช่วงเช้าเดินทางไปพบกับชาวบ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานยางแท่ง บ.ศรีตรัง แองโกรอินดัสทรี จก. สาขาอุดรธานี และ บ.วงษ์บัณฑิตอุดรธานี จก. ติดต่อกันมากว่า 6 ปี ที่ศาลาเอนกประสงค์บ้านโนนสะอาด ต.หนองนาคำ อ.เมือง มีนางกิตติชา ธานีเนียม หรือครูเตี้ย นำชาวบ้านและทีมวิจัยให้ข้อมูล

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงผลข้อตกลงที่ทำไว้กับ หน่วยงานราชการและโรงงานยางแท่งทั้ง 2 โรง จำนวน 6 ข้อ ได้ผลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งได้รับคำตอบว่า “ยังคงมีกลิ่นเหม็นต่อเนื่อง โดยในวันนี้ไม่มีกลิ่นเหม็น อยากจะให้เป็นเช่นนี้ทุกวัน” พร้อมขอให้ดำเนินการ 1.ให้มีการตรวจร่างกายชาวบ้านเหมือนปี 59-60 , 2.ให้กรมควบคุมมลพิษตรวจอากาศช่วงธันวาคม 61 , 3.ให้ สนง.สิ่งแวดล้อม ภาค 9 ตรวจคุณภาพน้ำ ช่วงสิงหาคมอีกครั้ง และ 4.ให้ สนง.สิ่งแวดล้อม ภาค 9 เพิ่มสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำในลำห้วยเชียงรวง (ห้วยโสกโป่ง)

ช่วงบ่ายเดินทางไปที่โรงงานของ บ.ศรีตรัง แองโกรอินดัสทรี จก. สาขาอุดรธานี และ บ.วงษ์บัณฑิตอุดรธานี จก. เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา โดยมีนายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ชี้แจงการแก้ไขปัญหาของจังหวัด ว่าได้ตั้งคณะทำงานขึ้น 4 ชุด ด้านการเกษตร , ด้านขนส่ง , ด้านแปรรูป และด้านสุขภาพ ดำเนินการแก้ไขในภาพรวม ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ- หรือตั้งแต่ในส่วนยาง ไปถึงโรงงานแปรรูปทั้ง 7 โรง โดยทุกชุดได้เสนอร่างแผนงานมา ให้กลับไปทำการปรับปรุงให้เสร็จก่อน 15 สิงหาคมนี้

นายเฉลิมชัย หน่อสกุล ผจก.สายงานผลิต บ.ศรีตรังฯ กล่าวว่า ได้แก้ไขปัญหาตามคำแนะนำของทางราชการ นักวิชาการต่างๆแล้ว และยังแก้ไขต่อเนื่อง แต่ที่มีความเป็นห่วงขณะนี้ และต้องการให้ภาครัฐช่วย คือ การใช้กรดซัลฟิวริกในการหยดยาง ที่นอกจากจะเป็นสาเหตุกลิ่นเหม็น ยังส่งกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพของยางต่ำ ทำให้มีผู้ซื้อยางแท่งบางรายปฏิเสธการซื้อ หากยังปล่อยให้ใช้กรดนี้ต่อไป จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยางในอีสาน โดยโรงงานพร้อมให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเราเพียงตรวจเพื่อทำสถิติ พบว่าอุดรธานีลดการใช้ลง แต่บางพื้นที่ใช้แบบ 100 เปอร์เซนต์

นางกิติชา ธานีเนียม หรือ “ครูเตี้ย” ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า อยากให้มีการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว โดยขอให้ดำเนินการเพิ่มคือ ถ้าโรงงานปิดปรับปรุงให้ทำความเข้าใจกับคนงาน ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรไม่ใช่มาโทษคนประท้วง , อยากให้โรงงารนทำตามคำชี้แนะของ กก.สิทธิ ที่โรงงานปิดตัวเองเพื่อปรับปรุง ไม่หายก็ปิดปรับปรุงอีก ไม่ต้องให้ทางราชการออกคำสั่ง , ให้โรงงานปรับปรุงธรรมมาภิบาล ด้านสิ่งแวดล้อม-สังคม และให้ชะลอการเปิดโรงงานที่ 3 จนกว่าโรงงานที่ 1 และ 2 จะแก้ปัญหาได้

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รายงานผลการลงพื้นที่ครั้งที่ผ่านมา เรื่องปัญหากลิ่นจากโรงงานยางพารา 2 แห่ง ไปยังท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว และได้สั่งการว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแก้ปัญหาให้ลุล่วง การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามผล โดยได้ลงพื้นที่พบชาวบ้าน เพื่อรับฟังปัญหาว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านยังประสบปัญหาเรื่องกลิ่นอยู่หรือไม่ และต้องการอยากให้แก้ไขอะไรเพิ่มเติมอีก

“ พร้อมลงพื้นที่พบทั้ง 2 โรงงาน ติดตามการแก้ไขปัญหา ซึ่งแต่ละโรงงานก็มีความพยายามแก้ไข และมีความคืบหน้า เช่น การสร้างโรงเก็บวัตถุดิบเป็นระบบปิด หรือสร้างระบบไบโอสครับเบอร์ เป็นระบบปิดไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของกลิ่น วันนี้ยังสร้างความเข้าใจ ในแนวทางความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและโรงงาน ต่อไปเราจะลงพื้นที่ทุกเดือนติดตามปัญหานี้ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนองนาคำโมเดล หรือ อุดรโมเดล หากแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้สำเร็จ ก็จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหากลิ่นของโรงงานยางทั่วประเทศ คาดว่าใช้เวลาไม่นาน หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือด้วยกัน ที่น่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ”

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ฯ กล่าวอีกว่า ส่วนบันทึกช่วยจำ 6 ข้อ ไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ มีความคืบหน้าตลอด แต่ที่เราเพิ่มเติมในครั้งนี้ ที่ยังมีความระแวงของชาวบ้านที่รับผลกระทบ จึงแนะนำชาวบ้าน เช่น เมื่อชาวบ้านเหม็นกลิ่นยางเมื่อไหร่ ก็ให้เข้ามาตรวจสอบในโรงงานยางทันที เพราะทางโรงงานก็อยากรู้ว่า จุดอ่อนจุดด้อยของกระบวนการผลิตยางแท่งอยู่ตรงไหน เมื่อรู้ว่าจุดไหน ทางโรงงานก็พร้อมแก้ไข และเราจะมีระบบจมูกอีเลคโทรนิค หรือ E-NOSE ให้หน่วยงานคนกลางที่มีเครื่องมือตรวจสอบเรื่องกลิ่นมาตรวจสอบ เพื่อจะได้รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว มันเหม็นออกมาจากจุดไหน จะได้แก้ไขให้ตรงจุด หากทำได้จริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาของจุดอื่น ๆ ในประเทศต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเรื่องมาตรฐานกลิ่น เรื่องมาตรฐานโรงงานยาง และเรื่องการใช้กรดซัลฟิวริกของเกษตร มีความคืบหน้ามากน้อยแต่ไหน พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ ตอบว่า เรื่องกำหนดค่ามาตรฐานกลิ่นมีความคืบหน้าไปมาก ทางกรมควบคุมมลพิษ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแล้ว และมีมติบางส่วนไปบางแล้ว โดยเราจะไปติดตามเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต่อไปก็จะมีการวัดค่ากลิ่นของโรงงานยางเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนเรื่องมาตรฐานโรงงานยาง จะแยกมาเป็นประเภทโรงงานที่ 24 หรือไม่ ทางโรงงานยางทั้ง 2 โรงก็ไม่ขัดข้อง โดยจะมีการสอบถามส่วนที่เกี่ยวข้องว่า จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อ

“ เรื่องการใช้กรดซัลฟิวริกของชาวสวนยาง จะมีการเสนอในระดับนโยบาย ทั้งการยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจะมีมาตรการอะไรหรือไม่ ในการส่งเสริมการให้ชาวสวนยางให้สารที่ถูกต้อง คือ กรดฟอร์มิค และจะควบคุมกรดซัลฟูริกอย่างไร เพราะกระบวนการนี้มันจะถูกกีดกันเรื่องของราคา ที่กรดซัลฟูริกถูกกว่า และทางโรงงานยางก็ทราบปัญหานี้อยู่แล้ว อีกแนวทางคือ การจูงใจจากทางโรงงานยาง ในการรับซื้อยางก้อนถ้วย โดยการสร้างความแตกต่างของราคายางก้อนถ้วย ที่หากมีสารซัลฟูริกมาก ก็ต้องตัดราคารับซื้อลง หรือไม่ซื้อยางเลย และให้เพิ่มราคายางที่ใช้สารฟอร์มิคกับชาวสวนยาง ถ้าเราแก้ไขปัญหาทั้งระบบ การแก้ไขปัญหากลิ่นของโรงงานยาง ก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี ”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments