เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง อ.เมือง อุดรธานี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการอุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (JBC.) อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี เพื่อพิจารณาเปิดประตูระบายน้ำ ลงลำน้ำห้วยหลวง หลังจากระดับน้ำสูงเกินเกณฑ์ โดยมีนายชาญวิทย์ แฮมเกตุ ผอ.ชลประทาน จ.อุดรธานี นายวรวิทย์ สุภาอ้วน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง นำคณะกรรมการฯ ทั้งในส่วนพื้นที่ชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ที่จะได้รับผลกระทบจากเปิดประตูระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด
นายชาญวิทย์ แฮมเกตุ ผอ.ชลประทาน จ.อุดรธานี นายวรวิทย์ สุภาอ้วน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง ชี้แจงว่า อ่างฯห้วยหลวงมีความจุ 135 ล้าน ลบม. ปีนี้ยังไม่เคยเปิดประตูระบายน้ำหลัก เพราะก่อนหน้ามีฝนตกลงมาจากความกดอากาศ จะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯวันละ 1 ล้าน ลบม.เศษ ปริมาณการเก็บกักอยู่เพียง 64 % และเมื่อฝนตกลงมาต่อเนื่องหลายวัน มีน้ำไหลเข้ามาอ่างฯจำนวนมากต่อเนื่อง จนล่าสุดในวันนี้ปริมาณน้ำมากถึง 113 ล้าน ลบม. หรือ 84.06 % ซึ่งตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ อ่างฯจะต้องระบายน้ำออก เพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างฯ หรือรองรับฝนที่จะตกลงมาอย่างหนักอีก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ ว่าจะมีพายุฝนตกในช่วงอีก 2-3 วันข้างหน้า โดยจะขอเปิดประตูระบายน้ำในระดับต่ำก่อน จะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนรุนแรง
ด้านคณะกรรมการฯพื้นที่ชลประทาน ที่ได้รับน้ำจากคลองชลประทาน ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็น แต่ในส่วนของตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่น และประชาชน ในพื้นที่ริมลำน้ำห้วยหลวง และลำน้ำสาขา จาก ต.เชียงยืน , ต.เชียงพัง , ต.นากว้าง , ต.หมูม่น ,ต.สามพร้าว อ.เมือง และ อ.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน ไม่ต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำช่วงนี้ เพราะก่อนหน้านี้ “ลำห้วยหลวง” ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรื่องราษฎร รวมทั้งพื้นที่การเกษตรไปแล้ว แม้ฝนจะไม่ตกลงมากหนัก แต่ปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตร และในลำห้วยหลวง และลำห้วยสาขา ยังอยู่ในระดับสูง นาข้าวยังจมอยู่ใต้น้ำมาหลายวัน น้ำที่เริ่มลดลงจะทำให้ต้นข้าวรอดตาย มีข้าวให้ชาวบ้านเด้กิน แต่หากระบายน้ำออกมา นาข้าวจะเสียหายสิ้นเชิง ไม่มีข้าวให้ได้กินในปีต่อไป บางคนถึงกับระบุว่า “ให้ผมไปบริหารจัดการน้ำ จะทำได้ดีกว่าชลประทาน”
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการอุดรธานี ได้สรุปผลการประชุมว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้องประชาชน ที่อาศัยและทำกินอยู่ริมลำน้ำห้วยหลวงและสาขา ที่มีพื้นที่เกษตรกรรมถูกน้ำท่วม ยังต้องการให้ระดับลดลงไปอีก ไม่เห็นด้วยกับการเปิดประตูระบายน้ำอ่างฯห้วยหลวง ก็น่าจะรับฟังความเห็นผู้รับความเดือนร้อน ด้วยการรอซัก 2-3 วัน ให้ระดับน้ำในลำห้วย และนาข้าว ลดลงมาเพื่อให้ต้นข้าวรับแสงแดด จึงจะทำการระบายน้ำออกมา ซึ่งที่ประชุมยอมรับตามมติดังกล่าว
จนเย็นวันที่ 2 กันยายน 2567 โครงการชลประทานห้วยหลวง จ.อุดรธานี ได้ออกประกาศว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 113.957 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 84.06 % และยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องทำการทยอยระบายน้ำ เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบแผนการระบายน้ำ โดยจะเริ่มระบายน้ำลงสู่ลำห้วยหลวง ตั้งแต่ 09.00 น. 4 ก.ย.67 เป็นต้นไป ในปริมาณ 0.5 ล้าน ลบม./วัน , 5 ก.ย.67 ระบายปริมาณ 2 ล้าน ลบม./วัน , 8 ก.ย.67 ระบายปริมาณ 3 ล้าน ลบม./วัน จึงขอความร่วมมือผู้อยู่ริมลำห้วย เก็บสิ่งของมีค่าไว้ในที่สูง หากมีการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จะประกาศแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอีกครั้งหนึ่ง