เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายณฐพล วิถี รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) อุดรธานี ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี โดยมีวาระการประชุมนำเสนอข้อมูลนโยบายรัฐบาล การขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ และเพื่อพิจารณาการคัดค้านของ 10 องค์กรเอกชน จ.อุดรธานี ที่คัดค้านนโยบายดังกล่าว
นายบรรจบ อุนารัตน์ แรงงานจังหวัดอุดรธานี รายงานว่า อุดรธานีมีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 340 บาท ในการสำรวจผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ 200 คน พบว่าแรงงานได้ค่าแรงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ ไปจนถึงสูงค่าแรงวันละ 400 บาทขึ้นไป ขณะที่การสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงาน พบว่ามีค่าใช้จ่ายรายวันละ 381 บาท แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าจะเป็นตัวเลขนี้ เพราะจะต้องมีการนำตัว เลข หรือค่าเฉลี่ยอื่นมาคำนวณเพิ่ม ซึ่งการคิดคำนวณน่าจะเสร็จก่อนกลางเดือนกรกฎาคม 2567 พร้อมระบุด้วยว่าล่าสุดกระทรวงแรงงาน อาจจะมีการพิจารณาเป็นรายจังหวัด ไม่ใช่เหมารวมอัตราเดียวกันทั่วประเทศ
พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี แจ้งต่อที่ประชุมว่า 10 องค์กรภาคธุรกิจใน จ.อุดรธานี ในนาม กกร.อุดรธานี ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรม จ. อุดรธานี , หอการค้า จ.อุดรธานี , สมาคมธนาคารไทย จ.อุดรธานี , สมาคมอสังหาริมทรัพย์จ.อุดรธานี , สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.อุดรธานี , สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.อุดรธานี , สมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีน จ.อุดรธานี , สมาคมนักธุรกิจไทยเวียดนามแห่งประเทศไทย , สมาคมโรงแรมไทย จ.อุดรธานี และเครือข่าย MOC Biz Ctub อุดรธานี ได้ประชุมมีมติคัดค้านเสนอที่ประชุม กรอ.อุดรธานี และที่ประชุมมีมติเสนอตามขั้นตอน
มติที่ 10 องค์กรเอกชน จ.อุดรธานี ให้เหตุผลว่า 1. การปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ทำมาแล้ว 2 ครั้ง มีผลกระทบต่อเสถียรภาพผู้ประกอบการ , 2.ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งค่าครองชีพ ระดับราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนศักยภาพในการแข่งขัน เป็นการเพิ่มภาระดันทุนอย่างไม่เหมาะสม , 3. ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดพนักงาน ลดกำลังการผลิต หรือชะลอการลงทุน , 4. ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อค่ำครองชีพประชาชน
มีข้อเสนอแนะ 1.เห็นด้วยกระดับรายได้ของแรงงาน แต่ควรพิจารณาจากทักษะของแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด , 2. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรยึดหลักที่เป็นธรรมและคำนึงถึงความสามารถผู้ประกอบการ ควบคู่กับการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง , 3. ใช้สูตรคำนวณที่เป็นมาตรฐานสากล และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค อัตราเงินเพ้อ และผลิตภัณฑ์มวลรวมแต่ละจังหวัด , 4.ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการหารือ , 5. ภาครัฐควรสร้างสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงาน