สนข.จ้างศึกษาอุดรธานี และอีก 10 เมืองหลัก เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ หลังพบปัญหารถสองแถว-รถบัส ผู้โดยสารลด หันไปพึ่ง จยย.-รถส่วนตัว ขณะเชื้อเพลิงทำต้นทุนพุ่ง หลายเส้นทางขอยกเลิก ที่เหลืออยู่ขอลดจำนวนเที่ยว ผู้ประกอบการร่วมหาทางออก
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ห้องนายูง โรงแรมเซ็นทารา อ.เมือง อุดรธานี มีการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 โครงการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาค ที่ สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ว่าจ้าง บ.ทรานส์คอนซัลท์ จก. และ บ.โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จก. มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมีตัวแทนจาก สนข. , สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี และผู้ประกอบการบริการเดินรถสาธารณะ หมวด 1ในพื้นที่ ทน.อุดรธานี และ อ.เมือง รวมทั้งหมวด 4 เส้นทางจากต่างอำเภอ เข้ามาในเขต ทน.อุดรธานี
การศึกษาครั้งนี้ สนง.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้กำหนดเมืองหลักในเมืองภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา พิษณุโลก อุดรธานี ภูเก็ต และสงขลา (หาดใหญ่) ประกอบกับ สนข. พิจารณาว่า เพื่อให้มีข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคเพิ่มเติมอีก 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี โดยการศึกษาเริ่มตั้งแต่ 14 ก.ย. 66 ถึง 6 พ.ย. 67 (ผ่านมา 9 เดือนเพิ่งมาอุดรธานี เหลืออีก 5 เดือน )
ที่ปรึกษาให้ข้อมูลว่า บริการขนส่งสาธารณะคือการ “เปลี่ยนระบบ” ทำให้มีปัญหาที่ต้องการแก้ไข เพื่อพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ โดยระบบรางใน กทม. เริ่มที่สายสีเขียวตั้งแต่ปี 2542 เริ่มต้นก็ไม่มีผู้โดยสารตามเป้าหมาย จนต้องมี “ฟีดเดอร์” หรือรถบริการส่งต่อ เริ่มแรกๆก็เป็นการบริการฟรี ทำให้รู้ว่าฟีดเดอร์มีความจำเป็น รวมไปถึงรถโดยสารที่เหมาะสม ตามปริมาณของผู้โดยสาร อย่างเช่นรถโดยสาร EV ชานต่ำ ที่อนาคตอาจจะพัฒนาเป็นระบบราง
ผู้ประกอบการเดินรถให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการประสบปัญหา ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และคนทำงาน ลดลงทุกเส้นทางจาก หันมาใช้ จยย.มากขึ้น , รถรับจ้างป้ายดำ , รถรับจ้างผ่านแอฟฯ , ประสบปัญหาราคาน้ำมัน และถูกยกเลิกคูปองค่าเชื้อเพลิง ทำให้ผู้ประกอบการขอยกเลิกเส้นทาง หรือขอลดจำนวนเที่ยวให้บริการลง และเน้นการให้บริการช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และแนวโน้มการขอยกเลิกเส้นทาง และลดจำนวนเที่ยววิ่งลงจะมีอีก หากไม่ได้รับการ แก้ไขหรือสนับสนุน
ที่ประชุมมีข้อเสนอร่วมกันหลายประเด็น คือ การเพิ่มค่าโดยสารจากเดิม , สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ , ลดราคาค่าเชื่อเพลิง หรือคูปองค่าเชื้อเพลิง , จ้างวิ่งโดย อปท. (ประชาชนนั่งฟรี หรือจ่ายในอัตราที่ต่ำลง) ที่ระเบียบเปิดให้ดำเนินการได้ แต่ อปท.ที่พร้อมน่าจะมีขนาดใหญ่
ที่ประชุมยังสอบถาม รถบริการสาธารณะเส้นทางใหม่ ตามแผนศึกษาของ สนข. เป็นรถยนต์โดยสารพลังงานสะอาด 6 เส้นทาง โดย 2 เส้นทางแรก สายที่แดง (บิ๊กซี-สนามบิน) หรือสาย 20 ที่ขอยกเลิกไปแล้วจากสถานการณ์โควิด และสายสี่ส้ม (วงกลม สถานีรถไฟ-รพ.อุดรฯ) อยู่ในชั้นตอนการพิจารณาเลือกผู้ประกอบการ 2 ราย โดยจะมีการประชุม คกก. เพื่อพิจารณา ก.ค.67 เมื่อพิจารณาแล้วผู้ประกอบการจะเดินรถภายใน 180 วัน
อีก 3 เส้นทาง กำลังพิจารณาปรับเส้นทาง จากการศึกษาเส้นทางของ สนข. และจะนำเข้าพิจารณาของ คกก.พร้อมกัน ประกอบด้วย “สายสีน้ำเงิน” เส้นทางเดิมที่ผู้ประกอบการขอยกเลิกแล้วจากสถานการณ์โควิด-19 , สายสีชมพู (มรภ.อุดรธานี -ใจกลางเมือง) และสายสีเหลือง (วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก) ทั้งนี้ทั้ง 3 เส้นทาง ไปทับกับเส้นทางการเดินรถเดิม จะต้องรับฟังความคิดเห็น (รถแอร์ 6 สาย คนละกลุ่มกับรถสองแถวเดิม หรือสองแถวก็คือเฟดเดอร์)