วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมชป.แจงชาวบ้านน้ำท่วมห้วยหลวงตอนล่างชดเชยช้า

ชป.แจงชาวบ้านน้ำท่วมห้วยหลวงตอนล่างชดเชยช้า

ชบ.ทวงถามค่าชดเชยที่ดินน้ำท่วม เม็กกะโปรเจ็ครัฐบาล “บิ๊กตู่” พัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง 9 ปี 21,000 ล้าน จนมีนายหน้ามาขอชักเปอร์เซนต์ ขณะ ชป.ยืนยันกลั่นกรองแผนงาน เงินทุน ก่อนเข้า ครม.3 ครั้ง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 มิถุนายน ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายเจษฎา ปานะถึก ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี นัดหมายให้ นายอภิชาต ชุมชนมณี ชลประทาน จ.อุดรธานี นายเสถียร แพงมา หน.โครงการก่อสร้าง 1 สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อร้องเรียนราษฎรได้รับความเดือดร้อน จากโครงการก่อสร้างฝายหลวงหลวง โดยมีนายธนาคม ศรีสังคม , นางกองเงิน พรหมโสภา นำตัวแทนราษฎรจาก ต.สร้างคอม ต.หินโงม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี มารับฟังคำชี้แจง

นายธนาคม ศรีสังคม ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า กรมชลประทานให้ ม.ขอนแก่น (มข.) ศึกษาโครงการลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ในส่วนด้านใต้ของอ่างน้ำพาน จะก่อสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.)ดงสะพัง ซึ่งชาวบ้านต้องการรับค่าชดเชยที่ดิน ไม่ต้องการให้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เพราะไม่แน่ใจว่าจะป้องกันได้หรือไม่ แต่ผลการศึกษาของ มข.กลับให้สร้างเขื่อน โดยอ้างว่ารับฟังความคิดเห็นแล้ว จนต้องมีการทำประชามติเมื่อ 30 ก.ย.59 ชาวบ้านยืนยันรับค่าชดเชยที่ดิน แต่เมื่อ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีมติให้สร้างตามการศึกษา ชาวบ้านจึงรวมตัวมาทวงถาม

นางกองเงิน พรหมโสภา แกนนำชาวบ้าน ระบุว่า มีการรังวัดทำแผนที่มาตั้งแต่ปี 58 เอกสารต่างๆชาวบ้านเอาให้ และเซ็นชื่อไปให้หมดแล้ว แล้วชาวบ้านก็รอว่าเมื่อไหร่จะได้รับเงิน ยืนยันไม่เอาเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ตอนนี้ไม่แน่ใจแล้วว่าจะได้หรือไม่ เพราะมีชาวบ้านในพื้นที่ติดกัน ได้รับเงินค่าชดเชยไปบ้างแล้ว บางรายมีรายชื่อจะได้รับเงิน โดยไม่มีชื่อของตนและชาวบ้านจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีนายหน้ามาติดต่อ จะติดตามให้ขอส่วนแบ่ง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการเอาสัญญามาให้เซ็นต์ แต่ตนยังไม่เซ็นต์ แต่มีเพื่อนบ้านเซ็นต์ไปแล้ว

นายอภิชาต ชุมชนมณี ชลประทาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตอนที่ ครม.จะมีมติออกมาก็สอบถามมาที่อุดรธานี ท่านผู้ว่าฯก็เป็นห่วงเป็นใย เร่งรวบรวมข้อมูลส่งกลับไปให้รัฐบาล ยืนยันว่าอยู่ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการ ที่มีอุปสรรคอยู่บ้างก่อนมีมติ ครม. ถึงตอนนี้เริ่มเดินเครื่องแล้ว โดยขอให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันไว้ มีปัญหาข้อข้องใจให้มาสอบถาม ที่ สนง.ชลประทาน จ.อุดรธานี จะช่วยประสานงานกับโครงการ และขออย่างไปแบ่งเงินที่เราจะได้ให้ใคร ทุกคนจะได้ตามสิทธิแต่อาจะช้าบ้าง

นายเสถียร แพงมา หน.โครงการก่อสร้าง 1 สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 ชี้แจงว่า โครงการนี้กรมชลประทาน รับช่วงต่อมาจากกรมการพลังงาน เมื่อรับมากได้สำรวจปักเขตใหม่ปี 51 พบว่ามีผลกระทบมากการศึกษาครั้งแรกไม่ครอบคลุม ขอให้ทำการศึกษาใหม่ โดยมอบให้ มข.ดำเนินการ ซึ่งในการรับฟังความเห็นผู้นำชุมชน ที่โรงแรมบ้านเชียง ทน.อุดรธานี ผู้นำชุมชนเสนอให้ กันพื้นที่บริเวณนี้ไว้ไม่ให้น้ำท่วม รักษาพื้นที่เอาไว้ทำกิน จึงออกแบบให้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เมื่อมีชาวบ้านคัดค้านจึงทำประชามติ สรุปออกมาว่าให้ทำเป็นแหล่งน้ำ

“ โครงการนี้ต้องรอหารตัดสินใจรัฐบาล หลังจากที่กรมชลประทานเสนอ ครม.ครั้งที่ 1 ช่วงนั้นประเทศเกาหลีเสนอตัวมาช่วย และหาแหล่งเงินทุน จึงต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่ เสนอครั้งที่ 2 ก็มีเรื่องที่ประเทศเกาหลี หาแหล่งเงินทุนที่ดอกเบี้ยแพง ก็ต้องกลับมาหาแหล่งเงินทุนใหม่ และเสนอครั้งที่ 3 เมื่อ 24 เมษายน 61 ครม.ให้ความเห็นชอบ ระยะตามแผนงาน 9 ปี ระหว่างปี 61-69 วงเงิน 21,000 ล้านบาท หลังจากมีมติ ครม. กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางให้พิจารณาแก้ปัญหาเป็นจุด ไม่ให้ขัดแย้งกับประชาชน รวมทั้งกรณีใต้อ่างฯน้ำพาน ”

หน.โครงการก่อสร้าง 1 สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 กล่าวต่อว่า บริเวณนี้จะออกแบบแนวเขื่อนใหม่ ให้พื้นที่ทั้งหมด 300 แปลง เป็น สปก.2,178 ไร่ , นส3 ก.และโฉนด 151.5 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนการขอรับค่าชดเชยในส่วนของ สปก. กรมชลประทานจะต้องขอให้พื้นที่จาก สปก.ก่อน จะต้องใช้เวลานาน ส่วน นส3 ก.และโฉนด จะใช้เวลาน้อยกว่า แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าจะได้เมื่อใด ส่วนที่มีชาวบ้านได้รับค่าชดเชยไปแล้ว เป็นพื้นที่อยู่นอกบริเวณมีปัญหา….

ผู้สื่อข่าวรายงวานด้วยว่า ชาวบ้านพอใจในคำชี้แจงของชลประทาน โดยเร่งรัดให้ได้รับค่าชดเชยโดยเร็ว และจะต้องรับค่าชดเชยก่อน จะปิดเขื่อนปล่อยน้ำเข้ามาท่วมที่ทำกิน และขอให้เจ้าหน้าที่เดินทางลงพื้นที่ชี้แจงชาวบ้านบ่อยๆ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments