ปปช.ให้ความสนใจงานมหกรรมพืชสวนโลก บอกว่าด้วยความห่วงใย ตามนโยบายเชิงรุกของ ปปช. ที่จะให้ความสำคัญของ “การช่วยไม่ให้มีการทุจริต” โดยขอให้ผู้ว่าฯ หรือผู้แทน มาชี้แจงข้อเท็จจริง ตอบข้อซักถามใน 3 ประเด็น จากคำถามก็น่าจะเกิดจาก ข่าวความขัดแย้งของ จ.อุดรธานี กับกรมวิชาการเกษตร จนทำให้เกิดความล่าช้า แต่เมื่อจังหวัดส่งรอง ผวจ.และทีมงานไปชี้แจง คำถามหลักๆก็ชี้แจงจนพอใจ ก็ยังมีประเด็นน่าห่วงใยอยู่
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 18 เมษายน 2567) ที่ห้องฟ้าหลวง โรงแรมนภาลัย ถ.ประชารักษา ทน.อุดรธานี พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิต ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นประธานประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยในระเบียบวาระที่ 2 เป็นเรื่องแนวทางการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี โดยมีนายณฐพล วิถี รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำคณะกรรมการ และคณะทำงานงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี มาร่วมชี้แจง
สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 4 กำหนดประเด็นที่ต้อง ชี้แจง 3 ข้อ คือ 1.ความล่าช้าของโครงการ มีระยะเวลา 7 ปี (พ.ศ.2564 – พ.ศ.2570) วงเงิน 2,500 ล้านบาท มีแผนการบริหารจัดการอย่างไร 2.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น 3. การปรับลดงบประมาณ ในส่วนของงานก่อสร้างอาคาร จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของวัสดุ ที่ใช้ในการก่อสร้าง ความแข็งแรงของโครงสร้าง มีการปรับเปลี่ยนถูกต้องตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ และสาเหตุหรือวัตถุประสงค์ ในการปรับเปลี่ยนแผนบริหารจัดการ เนื่องจากสาเหตุใด
นายณฐพล วิถี รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กับคณะได้ชี้แจงตามประเด็นคำถามว่า ประเด็นที่ 1.ในปี 2564 เป็นการเริ่มต้นที่ ครม.มีมติรับหลักการ ให้มีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี โดยที่สมาคมพืชสวนนานาชาติ ยังไม่ได้ให้สิทธิในการจัดงาน เปรียบเหมือนเป็นการเริ่มต้น ซึ่งขณะนี้อุดรธานีได้รับสิทธิจัดงาน ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.69-14 มี.ค.70 บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด อ.เมือง อุดรธานี ทุกขั้นตอนเป็นไปตามแผน สามารถจัดงานได้อย่างแน่นอน
ที่ผ่านมามีปัญหา อุปสรรคบ้าง อาทิ พื้นที่จัดงานเป็นชุ่มน้ำท้องถิ่น มีขั้นตอนในการขอใช้พื้นที่มาก และต้องขอยกเว้นระเบียบจาก ครม. ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ , กรมที่ดิน , การรถไฟฯ และอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการหาผู้รับจ้าง มาปรับพื้นที่จัดงาน คาดว่าไม่เกินวันที่ 20 พ.ค.67 จะได้ผู้รับจ้าง จะแล้วเสร็จใน 8 เดือน
การว่าจ้างที่ปรึกษา “ศึกษาออกแบบมาสเตอร์แปลน” ที่มีการร้องเรียนในเบื้องต้น และได้ผู้รับจ้างรายใหม่ จนถึงวันที่ 10 เม.ย.67 ที่ผ่านมา มีการตรวจรับมอบงานเป็นที่เรียบร้อย ได้นำไปใช้ประกอบการว่าจ้างปรับพื้นที่ และเตรียมส่งมาสเตอร์แปลน ไปให้กรมวิชาการเกษตร เพื่อทำรายละเอียดหาผู้รับจ้าง มาก่อสร้างอาคาร สถานที่ ปรับภูมิทัศน์ และจัดสวนแสดงนิทรรศการ ซึ่งจากการปรับงบประมาณ รูปแบบอาคารยังคงเดิมและครบถ้วน แต่วัสดุเปลี่ยนแปลงไป
ประเด็นที่ 2 มีกระบวนการมีส่วนร่วม ด้วยการจัดเวทีรับความคิดเห็นหลายส่วน อาทิ จากเวทีขอใช้ที่ดินจัดงานจาก อปท.1 ครั้ง , จากเวทีศึกษาออกแบบผังแม่บท 2 ครั้ง ตลอดจนการลงนามบันทึกข้อตกลงของ อปท.ในพื้นที่ ในทุกเวทีมีผู้ให้การสนับสนุน มีเพียงบางท่านที่สอบถาม เรื่องของปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง จะสร้างประตูควบคุมน้ำใหม่ และผันน้ำจากอ่างหนองสำโรง และอ่างฯห้วยหลวงมาช่วย และการลงไปหาปลาในหนองแด ซึ่งได้ตอบไปว่าลงหาปลาได้ในพื้นที่ไม่สงวน
ประเด็นที่ 3 กรอบวงเงินงบประมาณ 2,500 ล้านบาท นายกฯสั่งการให้ใช้กรอบนี้ ไม่จัดสรรงบประมาณเพิ่ม จึงกำหนดการจัดสรรในส่วนการเตรียมงาน 1,811 ล้านบาท แบ่งเป็น อาคาร-สถานที่ 1,011 ล้านบาท และต้นไม้และภูมิทัศน์ 810 ล้านบาท โดย จ.อุดรธานี เป็นผู้ดำเนินการว่าจ้างทำแผนแม่บท-การปรับพื้นที่ ส่วนกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการการสร้างอาคาร-สิ่งสาธารนูปโภค-การจัดสวน ตามคำแนะนำของสำนักงบประมาณ เพราะกรมวิชาการเกษตรก่อหนี้ผูกพันเกิน 1 ปีได้
ขณะที่อนุกรรมการ ปปช. พอใจกับคำชี้แจงของจังหวัด แต่ก็ยังมีความห่วงใย หลายประเด็น อาทิ สภาพดิน-น้ำ บริเวณจัดงานมีสภาพเค็ม ขาดความอุดมสมบูรณ์ จนต้องน้ำดินอุดมสมบูรณ์มาถม และปลูกปอเทือง 3 รอบ , การประสานความร่วมมือ ให้ผู้รับจ้างเข้าทำงานได้เต็มที่ เพื่อทันกับการจัดงาน , การจัดงานเรื่องการคมนาคม-ความปลอดภัย-สุขภาพ-การอำนวยความสะดวก จัดหางบประมาณส่วนไหนมา โดยเฉพาะเบี้ยงเลี้ยงบุคคลากร , งานประชาสัมพันธ์ที่ยังมีน้อย น่าจะต้องเริ่มได้แล้ว ตลอดจนแผนการดูแลอาคาร-สถานที่-ต้นไม้ ขณะจัดงานและหลังจัดงานไปแล้ว